รีวิวอินเดีย :: The Complete Guide To The Best Of Lucknow, India 🇮🇳

หากทริปต่อไปมีโจทย์เป็นเรื่องความยิ่งใหญ่ทางอารยธรรม ชมสถาปัตยกรรมแสนอลังการแบบสวยตาแตก เราขอปักให้ Lucknow คือเส้นชัยที่อยากให้ทุกคนได้พิชิตสักครั้งในชีวิต เพราะนี่คือเมืองใหญ่ทางตอนเหนือที่จะมาเปลี่ยนภาพจำของอินเดียที่เคยมี แทนที่ด้วยแสนล้านโมเมนต์สุดประทับใจจากความหลากหลาย ทั้งเรื่องผู้คนที่มีน้ำใจ ความบันเทิงในแบบที่เอเชียอื่น ๆ ไม่มี ตัดสลับกับความงดงามของงานออกแบบที่ผสานทั้งฮินดู-มุสลิม เปอร์เซีย ยุโรป ผนวกออกมาเป็น ‘มุสลิมโมกุล’  ที่มีความปราณีตยิ่งใหญ่สมมงจนได้เป็น Top 3 มัสยิดที่ใหญ่ที่สุดในอินเดีย  หรือจะเป็นแลนด์มาร์กที่เหมือนได้ว๊าปไปแดนอาหรับ นั่งชมพระอาทิตย์ตกแบบตัวมัม พร้อมกินสตรีทฟู้ดที่ไม่ได้น่ากลัวอย่างที่คิด หรือจะเป็นอาหารของมหาราชาที่กินง่ายกว่าที่คาด แพลนนี้รับรองว่าคนอยากเที่ยวอินเดียระดับบิกกินเนอร์สามารถเที่ยวตามได้ชิล ๆ แน่นอน

Lucknow (ลัคเนา) มหานครแห่งอินเดียเหนือ เมืองหลวงของ Uttar Pradesh หรือเรียกสั้น ๆ ว่ารัฐยูพี รัฐที่ใหญ่ที่สุดของอินเดีย ติดกับประเทศเนปาล โดยลัคเนาถือเป็นศูนย์กลางการคมนาคม เพราะมีสายการบินในประเทศและต่างประเทศ เพื่อให้ผู้คนต่อไปยังเมืองต่าง ๆ แต่หลังจากที่เพื่อน ๆ ได้เห็นรีวิวในทริปนี้ ทุกคนจะต้องไม่อยากให้เมืองนี้เป็นเพียงทางผ่านแน่นอน เพราะเขาเต็มไปด้วยแลนด์มาร์กยิ่งใหญ่ที่สวยไม้แพ้ใคร การเดินทางสุดกร้าวใจที่ทำเราตื่นเต้นแทบทุกนาที ผู้คนน่ารักที่ไม่ได้เหมือนในสารคดีไปซะหมด มาดูกันว่า 3 วัน 3 คืนในลัคเนาของเรา มันจะจึ้งตาจึ้งใจขนาดไหน 

โดยการเดินทางในทริปนี้ เราเรียกรถผ่านแอป Uber ประมาณ 99% เพราะสิ่งนี้ช่วยให้เราถึงจุดหมายได้เร็วขึ้น ลดความปวดหัวเรื่องการสื่อสาร ไม่ต้องหาเงินสดนับเงินทอนให้วุ่นวาย และขอแนะนำให้เลือกนั่ง auto rickshaw ฟิลลิงสามล้อบ้านเรา จะม่วนขึ้นอีกสิบเท่า กับการปาดซ้าย แซงขวา ฝ่ารถติดแบบที่ไม่ผิดกฎจราจร แต่ที่ชอบสุดคือตอนนี้เขาเริ่มเปลี่ยนมาใช้เป็นรถไฟฟ้ากันแล้ว ควันจึงไม่ค่อยเยอะ ยิ่งมาช่วงปลายปีต้นปี อากาศหนาว ๆ ยิ่งชิล ส่วนอีก 1% เราลองนั่งรถไฟฟ้า Lucknow Metro กับราคาเริ่มต้นที่ทำเอาเราเซอร์ไพร์เพียง 10 รูปี ( 5 บาท ) ด้วยค่าเดินทางภายในเมืองที่ค่อนข้างถูก ค่าที่พักไม่แรง(แถมดีสุด ๆ ) ค่ากินต่าง ๆ ที่จ่ายน้อยแต่อิ่มอร่อยแบบจุก ๆ ก็เลยทำให้ค่าใช้จ่ายทั้งหมดในทริปหมดไปไม่ถึงหมื่น(ไม่รวมตั๋ว) แต่ได้ใช้ชีวิตอู่ฟู่ตลอด 3 วัน 2 คืน เยี่ยงมหารานี

สำหรับทริปเปิดประสบการณ์อินเดียเหนือครั้งแรก เราเลือกเปิดการเดินทางด้วย AirAsia สายการบินของนักเดินทาง ยืนหนึ่งเรื่องเส้นทางบินอันหลากหลาย ยิ่งอินเดียก็มีไฟลต์พุ่งตรงสู่เมืองท่องเที่ยวและเส้นทางใหม่ ๆ เยอะมาก ซึ่งหนึ่งในนั้นคือ Lucknow ที่มีทั้งหมด 4 เที่ยวบินต่อสัปดาห์ ทุกวันจันทร์ พุธ ศุกร์ อาทิตย์ และเช่นเคยว่าทุกการจองตั๋ว เราไม่ลืมที่จะซื้อแพ็กสุดคุ้ม ที่ได้ครบตั้งแต่เลือกที่นั่งได้ดั่งใจ อาหารอุ่นร้อนรสชาติที่คิดถึง และน้ำหนักกระเป๋าที่ให้มาจุก ๆ 20 กิโลกรัม 

Day 1

001 Chota Imambara

ความดีงามแรกที่ได้เจอคืออากาศช่วงที่เรามานั้นเย็นสบายระดับยี่สิบองศาต้น ๆ ทำให้เราเดินเที่ยวได้ชิลสุด ๆ วันแรกเราจึงเลือกที่จะนอนตื่นสาย แต่งตัวสองเลเยอร์กันแดดกันลมให้พร้อม แล้วมาเช็กอินกันที่ ‘Chota Imambara’ มัสยิดขนาดย่อมของชาวมุสลิมชีอะห์ สร้างขึ้นโดย Nawab Mohamad Ali Saha ผู้ปกครององค์ที่ 9 แห่งราชวงศ์ลัคเนา ซึ่งผู้หญิงจะต้องโพกหัวก่อนเข้าด้วย แนะนำให้เตรียมไปเองหรือจะยืมของเจ้าหน้าที่ก็ไม่ติด เดินผ่านประตูใหญ่มา ก็จะพบกับสระน้ำทรงสี่เหลี่ยมผืนผ้า ที่สร้างภาพสะท้อนน้ำได้อย่างสวยงาม เอกลักษณ์ของมัสยิดแห่งนี้คือลวดลาย Caligraphy อักษรอิสลามแสนปราณีตสีขาวดำ คู่สีแสนเท่ที่เราไม่เคยเห็นที่ไหน ความวิจิตรนั้นอยู่ตรงการแกะสลักที่สมมาตรละเอียดลออ จะมองจากระยะไหนก็หลงรักได้ง่าย ๆ

ด้านในอาคารหลักจะประดับประดาไปด้วยโคมระย้าทรงสวยมากมาย จนถูกขนานนามว่าเป็น ‘Palace of Lights’ ตั้งแต่ศตวรรษที่ 19 และยังเป็นสุสานของ Nawab Mohamad Ali Saha และมารดาที่ฝังอยู่เคียงข้างกัน แต่เสียดายเขาไม่อนุญาตให้ถ่ายรูป ส่วนอาคารด้านข้างนั้นถูกสร้างเป็นสีขาว มีงานสลักที่วิจิตรตาแตกไม่แพ้กัน แม้สถานที่จะไม่ใหญ่มาก แต่เราก็เดินละเมียดชมได้แทบทุกองค์ประกอบ พร้อมครีเอทมุมภาพกับสวนและมัสยิด จนได้รูปสวย ๆ มาไม่น้อยเลยทีเดียว

002 Pehla phatak

เดินออกมาจากมัสยิด เราจะเห็นประตูกลางเมืองที่งดงามไม่แพ้ประตูไหน ๆ ‘Pehla phatak’ อีกแลนด์มาร์กทางประวัติศาสตร์ที่ผู้คนมองข้าม ตั้งอยู่ตรงข้ามกับ Rumi Darwaza ประตูตุรกีเอกลักษณ์ของเมืองที่ตอนนี้ทำการซ่อมแซมอยู่ โดดเด่นด้วยซุ้มประตูสีขาว 3 ช่อง เป็นประตูที่มีความหนาหลายชั้น ด้านบนมีงานปูนปั้น งานแกะสลักที่นูนเว้าด้วยฝีมืออันแสนประณีต สร้างมิติแสงเงาให้น่ามอง การจัด Composition ก็แสนเป๊ะ มองลอดประตูไป จะตรงกับประตูอื่น ๆ พอดิบพอดี ปัจจุบันประตูนี้ก็ยังคงใช้เป็นที่สัญจรของผู้คน ที่สามารถทะลุไปยังแหล่งร้านค้า ร้านขายของที่ระลึก ร้านอาหาร สตรีทฟู้ดมากมาย เป็นแอเรียที่คึกคักตลอดเวลา

แน่นอนว่าสิ่งที่สร้างความบันเทิง เพิ่มความสนุกให้เราตลอดทริปไม่ได้มีเพียงความสวยงามของสถานที่ท่องเที่ยวเท่านั้น แต่เรื่องราวระหว่างทางก็ทำเราประทับใจได้ไม่น้อย เพราะทุกการก้าวขาไปบนถนน เราจะพบหลายร้อยเรื่องราวในชั่ววินาที มันอาจจะเป็นชีวิตประจำวันของพวกเขา แต่หลายอย่างมันชวน ‘เอ๊ะ’ สำหรับเรามาก ๆ ไม่แปลกใจเลยที่ช่างภาพสายสตรีทหลาย ๆ คนจะมีรูปปัง ๆ จากอินเดียอยู่เสมอ กวาดตาไปตรงไหนก็จะมีมุมเจ๋ง ๆ เฟรมดี ๆ พร้อมผู้คนที่ยิ้มสู้กล้องแทบทุกซอกซอย อยู่ที่ว่าเธอจะลั่นชัตเตอร์ทันหรือเปล่าแค่นั้น เรียกว่าเป็นเมือง Photogenic ก็ไม่เกินจริง 

003 Satkhanda

หลังจากแวะกินข้าวเที่ยง เดินถ่ายรูปนิด ๆ หน่อย ๆ เราก็มาเก็บแลนด์มาร์กเล็ก ๆ รอบเมืองเก่ากันต่อ จุดนี้ชื่อว่า ‘Satkhanda’ อนุสรณ์สถานทางประวัติศาสตร์มีรูปทรงแปลกตาเป็นหอคอย 7 ชั้น สูง 30 เมตร สร้างโดย Nawab Mohammad Ali Shah ใช้สถาปัตยกรรมผสมผสานทั้งแบบโมกุล กรีก และฝรั่งเศส ไว้ด้วยกัน เชื่อว่าได้แรงบันดาลใจมาจากหอเอนเมืองปิซาและ Qutub Minar ในเดลี แต่ยังไม่ทันสร้างเสร็จ Nawab Mohammad Ali Shah ได้เสียชีวิตลง การก่อสร้างจึงหยุดชะงัก ด้วยความเชื่อว่าอาคารนี้เป็นลางร้าย จึงไม่มีใครสานต่อ กลายเป็นอาคารที่มีเพียงโครงเท่านั้น แต่ยังดีที่ได้รับการทำนุบำรุงจากทางการ กลายเป็นอีกองค์ประกอบที่มาช่วยเติมเต็มภาพเมืองเก่าให้ดูสมบูรณ์มากยิ่งขึ้น

004 Picture Gallery

ตรงข้ามกับ Pehla phatak เราจะเห็นอาคารเก่าแก่ขนาดใหญ่ตั้งอยู่ริมบ่อน้ำซึ่งสามารถเดินถึงกันได้ไม่กี่อึดใจ ที่นี่คือ ‘Picture Gallery’ อาคารอิฐแดงที่สร้างมานานถึง 185 ปี ซึ่งถือว่าเป็นแกลลอรีที่เก่าแก่ที่สุดในลัคเนา โดย Nawab Mohammad Ali Shah เดิมใช้เป็นบ้านพักฤดูร้อนของราชวงศ์ลัคเนา โดดเด่นด้วยโถงทางเข้าที่ต้องเดินขึ้นบันไดไปสูงพอสมควร เมื่อมองออกไปนอกระเบียง ก็จะเจอกับภาพเมืองเก่าได้อย่างถนัดตา

ไฮไลต์ของที่นี่คือภาพเหมือนของมหาเศรษฐีแห่งแคว้น Awadh ขนาดเท่าคนจริง วาดด้วยลายเส้นที่งดงาม เก็บรายละเอียดอย่างดีมีการลงสีสร้างแสงเงาอย่างบรรจง รอบ ๆ ยังมีภาพที่วาดโดยศิลปินชาวอินเดียและยุโรปอีกมากมายให้เราได้ชื่นชม แต่ไม่สามารถถ่ายรูปภายในได้อีกเช่นเคย เราเลยเก็บภาพรอบ ๆ ตัวแกลลอรีมาฝากแทน เอาดี ๆ เขามีมุมเก๋ ๆ ให้ครีเอทอยู่เยอะเหมือนกันนะ โดยเฉพาะมุมระเบียงยาว ที่มีกรอบเป็นทรวดทรงสไตล์อินเดีย พอโดนแสงแดดตกกระทบ ก็กลายเป็นเงาลายพร้อยให้เราเข้าไปร่วมเฟรม ถ่ายทะลุออกไปจะพบกับแลนด์มาร์กหลายจุด ทั้ง Pehla phatak, Clock Tower พร้อมบรรยากาศคึกคักจาก Mina Bazaar ตลาดที่ผู้คนเอาของมาวางขายอย่างมีชีวิตชีวา 

005 Hussainabad Clock Tower Lucknow

ส่งท้ายวันแรกด้วยพิกัดสุดปัง Hussainabad Clock Tower Lucknow หอนาฬิกาเก่าแก่อายุกว่า 142 ปี กับความสูง 67 เมตร ที่ขึ้นชื่อว่าสูงที่สุดในอินเดีย สร้างด้วยสถาปัตยกรรมแบบ Gothic และ Victorian มีหน้าปัดนาฬิกาล้อมทั้ง 4 ด้าน รูปทรงคล้ายกลีบดอกไม้ 12 กลีบ พร้อมลูกตุ้มที่ยาวถึง 15 ฟุต เชื่อว่าถอดแบบมาจากหอนาฬิกา Big Ben ที่อังกฤษ สร้างเพื่อต้อนรับผู้ว่าราชการคนแรกของแคว้น Awadh – Sir George Couper ปัจจุบันมีการรีโนเวทให้นาฬิกาทำงานได้ด้วยระบบไฟฟ้า และได้รับการซ่อมบำรุงเรื่อยมา นอกจากความสวยแล้ว ที่นี่ยังเต็มไปด้วยความจอย จากผู้คนที่มาพักผ่อนหย่อนใจแทบจะตลอดเวลา ยิ่งช่วงเย็น เราจะเห็นครอบครัวพาลูกหลานมาปิกนิก เล่นว่าว มีฝูงแพะเดินไปมาอย่างอิสระ ร้านเครื่องดื่มท้องถิ่นสไตล์สภากาแฟมีให้เห็นอยู่เยอะมาก ถ้าอยู่ตรงนี้ 1 วัน เราจะมีเรื่องเล่ามากกว่าพันเหตุการณ์แน่นอน 

Day 2

006 Bara Imambara

วันนี้แหละจะเป็นของจริงที่เราได้รู้จักลัคเนาแบบเต็มอิ่ม ด้วยการเก็บแลนด์มาร์กใหญ่ ๆ ชมความที่สุดของลัคเนากันแบบจุก ๆ เริ่มที่ ‘Bara Imambara’ ศาสนสถานของชาวมุสลิม ที่ถือเป็นมัสยิดที่ใหญ่เป็นอันดับ 3 ของอินเดีย สร้างโดย Nawab Asaf-ud-Daula ช่วงศตวรรษที่ 18 หรือราว ๆ 230 กว่าปีมาแล้ว โอ่อ่าตั้งแต่ประตูทางเข้า ผ่านเข้ามาเจอสวนสวย ห้อมล้อมด้วยกลุ่มอาคารที่เราสามารถเข้าชมได้ถึง 3 จุด แนะนำว่าให้มากันตั้งแต่เช้าเพราะคนยังไม่เยอะมาก มีเพียงกลุ่มเด็ก ๆ ที่มาทัศนศึกษาเท่านั้น ทำให้หามุมถ่ายรูป หาที่นั่งทอดเวลาชมความงามได้สบาย ๆ แต่ถ้ามาช่วงบ่ายก็เตรียมพบกับความบันเทิงของมวลมหาประชาชนได้เลย

ลอดประเข้ามา … ด้านขวามือเราะจะเห็นมัสยิดสีขาวสะท้อนตา ยืนท้าแดดอย่างสง่างามอยู่ จุดนี้คือ ‘Asfi Mosque’ มัสยิดโบราณ ขนาบข้างด้วยหอระฆังแฝด โดมบนยอดมัสยิด 3 โดม ภายในเป็นหลุมศพของ Nawab  Asaf-ud-Daula ส่วนอาคารกลาง ภายในจะเป็นโถงยาวเพดานสูง ไฮไลต์อยู่ที่ความโอ่อ่ายิ่งใหญ่นี้ไม่มีการใช้คานหรือเสาค้ำยัน แต่ใช้ความโค้งมนของโครงสร้างให้บาลานซ์กันได้อย่างน่าอัศจรรย์ พร้อมจัดวางของเก็บสะสมจากทั่วทุกสารทิศให้เราได้ชม แนะนำว่าให้มาดูด้วยตาเนื้อจะเห็นถึงความร่ำรวยเกินรวย รวยเกินคนที่แท้ทรู

ส่วนทางขึ้นสู่ด้านบนนั้นจะอยู่ที่ด้านซ้ายสุดของอาคาร ขึ้นบันไดไปแต่ละชั้นเราจะเห็นทางแยกเล็ก ๆ พร้อมช่องรูที่สามารถลัดเลาะเข้าไปได้.. แต่หากไม่มีไกด์นำ เราไม่แนะนำให้เดินเอง เพราะที่นี่ถือเป็นเขาวงกตที่ใหญ่ที่สุดของอินเดีย มีประตูมากถึง 1,024 บาน เปิดให้เข้าชมเพียง 2 บาน แต่ก็ทำเอามึนได้เหมือนกัน เราเลือกพุ่งตรงสู่ชั้นดาดฟ้าเพื่อมาเก็บมุมมหานิยม ภาพ Asfi Mosque จากมุมสูงที่มีกรอบสลักเป็น Foreground ชมวิวสวนจากมุมสูงได้ถนัดตา เห็นคนเดินเข้าเดินออกแบบเรื่อย ๆ ไม่เบื่อเลย

ที่ปีกซ้ายของสวนจะเป็นที่ตั้งของ ‘Shahi Baoli’ บ่อน้ำโบราณที่สร้างไว้เพื่อเก็บกักน้ำและอาหารให้แก่ชาวเมืองในช่วงหน้าแล้ง ใช้เวลาสร้างนานกว่า 10 ปี ด้วยสถาปัตยกรรมแบบ Indo-Islamic มีอายุเข้าสู่ปีที่ 230 พอ ๆ กับ Bara Imambara ประทับใจแรกคือประตูทางเข้าบ่อน้ำที่ดูหรูหรายิ่งใหญ่ เดินเข้ามาเราจะเจอกับขั้นบันไดยาวลงสู่ด้านล่าง หรือหากเดินข้ามไปอีกฝั่งของทางเข้า ก็จะเป็นโถงทางเดินสูงหลายชั้น ที่ตรงกลางเป็นรูแสงธรรมชาติ ส่องถึงก้นบ่อน้ำ เวลาที่แสงทแยงก็จะเกิดเป็นสปอตไลต์ส่องไปตามจุดต่าง ๆ เพิ่มมนต์ขลัง

เอาจริง ๆ นี่เป็นแค่ดีเทลคร่าว ๆ ที่เราหามาฝากเพื่อน ๆ แต่ก็ถือเป็นความรู้ที่ศึกษาก่อนมาเที่ยวแล้วจะเพิ่มอรรถรสขึ้นอีกหลายเท่าตัวเลย แต่ที่แนะนำสุด ๆ คืออยากให้ได้มาชมด้วยตาตัวเองมากกว่า ขนาดคนอินเดียมาเที่ยวเองยังทึ่ง แล้วหนุ่มตี๋สาวหมวยอย่างเราจะเหลืออะไร และเผื่อเวลาไว้อย่างน้อยครึ่งวัน เพื่อจะได้ละเมียดชมความงามในนี้ได้แบบไม่ต้องรีบร้อน มาทั้งทีก็เอาให้คุ้ม

007 Rumi Darwaza

ออกจากประตู Bara Imambara หันตัวไปเล็กน้อย เราก็จะเจอกับ Rumi Darwaza‘ หรือ Turkish Gate แลนด์มาร์กที่เซอร์ไพรส์เราด้วยการปิดก่อสร้างยาว ๆ แต่ก็ขอพูดเกร็ดเล็กเกร็ดน้อยให้ฟังสักหน่อย กับอภิมหาประตูที่สร้างขึ้นช่วงการปกครองของ Nawab Asaf-ud-Daula อีกเช่นเคย เป็นหลักฐานให้เห็นถึงความอัจฉริยะด้านการออกแบบของคนในสมัยนั้น ด้วยการสร้างสไตล์โมกุล ให้มีรูปแบบและวัสดุที่แตกต่างออกไป มีโครงสร้างคล้ายประตูของกรุง Constantinople ประเทศตุรกี สูงถึง 60 ฟุต เดิมใช้เป็นทางเข้าเมืองเก่าลัคเนา ด้วยความที่เป็นไอคอนประจำเมือง รอบ ๆ จึงเต็มไปด้วยสามล้อ รถม้า บริการขี่อูด สตรีทฟู้ด ฯลฯ ถือเป็นการต้อนรับเข้าเมืองที่เถิดเทิงมากทีเดียว 

008 Nuked Cafe

ถึงเวลาที่ต้องเติมพลัง ฉีดความหวานให้เส้นเลือด เราเรียกรถตรงมาฝากท้องที่ ‘Nuked Cafe’ โลคอลคาเฟ่ริมทาง ไม่มีกระทั่งที่นั่งแต่กลับมีลูกค้าเข้า-ออกไม่ขาดสาย เรียกว่าเป็นของเด็ดประจำเมือง ขวัญใจคนท้องถิ่นก็ไม่ผิด อาจเป็นเพราะเมนูที่มีค่อนข้างวาไรตี้ทั้งเครื่องดื่ม ของกินเล่น และอาหาร ที่เหมาะเป็นทั้งอาหารเช้าและมื้อเที่ยง ส่วนราคาก็แสนเป็นมิตรกับกระเป๋าสตางค์ อย่างเครื่องดื่มอยู่ที่ 25-80 รูปี อาหารอยู่ที่ 40-130 รูปีเท่านั้น 

สิ่งที่เราสั่งมาจะมี Amul Bun-Butter ขนมปังทรงกลมที่ทอดเนยฉ่ำ ๆ กินกับ Chai Tea ร้อนหวานอ่อน ๆ หอมสมุนไพรแล้วเข้ากันสุด ๆ ขนมอีกอย่างที่ควรค่าแก่การเพิ่มแคลอรีให้ร่างกายคือ Cookies เนื้อร่วนกำลังดี มีกลิ่นหอมที่แตกต่างจากคุกกี้ประเทศอื่น ๆ, Cream Horn ที่ทางร้านใช่แป้งคล้ายครัวซองต์กรอบ ๆ กินกับครีมเนื้อเนียนรสชาติหวานสะบัด ส่วนเมนู The must ที่เราเห็นชาวอินเดียกินกันทุกโต๊ะจะเป็น Cheese&Veggie Sandwich ชีสอินเดียโบกมาหนักขนาดไหนก็ไม่เลี่ยน เพราะเนื้อและกลิ่นจะบางเบากว่าแบบยุโรปเยอะมาก หรือจะสั่ง Meggi มาม่ากลิ่นผงกะหรี่ทำมาสด ๆ ร้อน ๆ ดีงาม อร่อยขนาดที่เราต้องกลับมาซ้ำ 2 รอบเลยอะแก

009 Dr. Babasaheb Ambedkar Memorial Park

เมื่อเริ่มเข้าสู่บ่ายแก่ ๆ แสงแดดเริ่มเป็นใจ เราก็มูฟตัวออกมาที่ ‘Dr. Babasaheb Ambedkar Memorial Park’ โลเคชั่นปิดท้ายวันสุดอลังการที่สร้างความประทับใจให้แบบไม่รู้ลืม ที่นี่เป็นอนุสรณ์สถาน ดร.อัมเบดการ์ หนึ่งในบุคคลสำคัญที่พลิกโฉมการปกครองของอินเดียยุคใหม่ ด้วยชาติกำเนิดที่อยู่ในวรรณะจัณฑาล ใช้ความฉลาดความอดทนต่อสู้เพื่อความเท่าเทียม จนได้เป็นประธานรัฐสภาคนแรกของอินเดีย มีส่วนในการร่างรัฐธรรมนูญฉบับแรก ซึ่งก็คือกฎหมายที่ใช้อยู่ในปัจจุบัน อนุสรณ์แห่งนี้สร้างมานานกว่า 28 ปี บนผืนดินอันกว้างใหญ่ใกล้กับแม่น้ำ Gomti ซึ่งมีหลายสปอตมากให้เราได้เยี่ยมชม และบอกเลยว่าถ่ายรูปสวย จนต้องขอตั้งให้เป็นโลเคชั่นมาสเตอร์พีชของทริปนี้ 

สิ่งที่ดึงสายตาผู้คนมากที่สุดคงจะเป็นโดมขนาดใหญ่ตรงกลางซึ่งเป็นหอเกียรติยศของดร.อัมเบดการ์ มีรูปปั้นอันใหญ่โตของท่านนั่งด้วยท่วงท่าสง่างาม รอบนอกเต็มไปด้วยสิ่งปลูกสร้างที่ให้ฟีลเหมือนเดินอยู่ในเคหสถานของเจ้าอาหรับอันโอ่อ่า มีโซนเสาหินอ่อนประดับยอดด้วยช้างเรียงไปยังโดมอีกฝั่ง ด้านหน้ามีน้ำพุขนาบข้าง ทุกอย่างจัดวางอย่างสมมาตรสมบูรณ์ ภายในโดมมีรูปปั้นของบุคคลสำคัญด้านการปกครอง อาทิ Jyotiba Phule, Shri Narayana Guru, Gautam Buddha, Sant Ravi Das, Sri Birsa Munda, and Sant Kabir Das ฯลฯ

เดินถัดมาอีกหน่อยเราจะเจอรูปปั้นช้างสูงใหญ่จำนวน 62 ตัว ยืนตระหง่านริมทางเดินที่พุ่งตรงสู่แท่นน้ำตก มีแผนที่อนุสรณ์พร้อมรูปปั้นอีก 2 บุคคลสำคัญ โชคดีที่เราเดินมาเห็นในช่วงพระอาทิตย์ตกพอดี เลยได้โมเมนต์เมจิกเอาเออร์ สวยสะกดจนแทบลืมหายใจ ด้วยพื้นกระเบื้องเงางามที่คอยสะท้อนวัตถุด้านบนที่เคลื่อนไหวไปมา ไปจนถึงแสงสีส้มระยิบระยับ ถ่ายมุมย้อนแสงแล้วดูโรแมนติกสุด ๆ 

ยังไม่หมดแค่นั้น เมื่อเราข้ามฝั่งจากโดมหลัก ผ่านเหล่าช้างมาก็จะเจอกับเวิ้งกว้างทรงกลม ประดับประติมากรรมที่บอกเล่าเรื่องราวประวัติศาสตร์การเมืองอันสำคัญของอินเดีย ซึ่งเป็นจุดที่คนน้อย บรรยากาศเงียบสงบที่สุด น่ามาเดินถ่ายรูปนั่งชิลก่อนฟ้ามืด แต่ที่นี่ยิ่งมืดยิ่งคึกคัก เพราะชาวเมืองเขาทยอยมาเดินเล่น นั่งพักผ่อน ชมงานไฟที่เปิดประดับตามโดมตามเสา โดยรวมแล้วเป็นบรรยากาศที่สนุกปนอบอุ่นมากทีเดียว

Day 3

010 The Residency, Lucknow

เช้านี้เรามาเติมเต็มความว้าวกันต่อที่ ‘The Residency, Lucknow’ อีกมหัศจรรย์สถาปัตยกรรมแห่งลัคเนา เต็มไปด้วยเรื่องราวสมัยอังกฤษยึดครองลัคเนา เริ่มก่อสร้างตั้งแต่ 1780-1800 โดย Nawab Asaf-ud-Daulah มาเสร็จสมบูรณ์ช่วง Nawab Saadat Ali Khan ซึ่งถือเป็นมหาเศรษฐีคนแรกของแคว้น Awadh หลังจากนั้นไม่กี่ปี ที่นี่กลายเป็นศูนย์กลางของบุคลากรชาวอังกฤษและกลายเป็นที่อยู่ของนายพลอังกฤษที่ปกครองแคว้นในสมัยนั้น จนถึงปี 1857 ที่เกิดสงครามกลางเมือง ทำให้ที่นี่ได้รับความเสียหายจากอาวุธหนัก มีทั้งร่องรอยกระสุนปืนและเศษซากให้เห็นจนถึงปัจจุบัน และยังเป็นที่ฝังศพของทหารราว ๆ 2,000 นาย ผู้สละชีวิตในช่วงสงครามนั้นด้วย

อ่านประวัติว่าเอ็กซ์ตรีมแล้ว มาดูเรื่องการออกแบบจะทึ่งยิ่งกว่า ด้วยความยิ่งใหญ่ของกลุ่มอาคารที่แทบจะเรียกว่าเป็นเมืองโบราณได้เลย ทุกจุดเปี่ยมมนต์ขลังไปด้วยงานออกแบบสไตล์  European และ Indo-Islamic ที่มีทั้งอาคารพักอาศัย ห้องจัดเลี้ยง คลังสมบัติ โบสถ์ พิพิธภัณฑ์ ระหว่างจุดต่าง ๆ มีธรรมชาติปกคลุม ร่มรื่นไปด้วยต้นไม้ใหญ่ แซมด้วยดอกไม้คอยแต่งแต้มความสดใส เพลินกับเสียงนกร้อง น้องกระรอกวิ่งซนมาให้เห็นเป็นระยะ กลายเป็นอีกแลนด์มาร์กที่ผู้คนชอบเข้ามาเดินเล่น นั่งปิกนิกกัน 

011 Tunday Kababi

มาถึงอินเดียถ้าไม่กินอาหารพื้นเมืองก็เท่ากับว่ามาไม่ถึง สำหรับลัคเนา ร้านที่ไม่ควรพลาดคือ ‘Tunday Kababi’ ร้านอาหารชื่อดังระดับประเทศ เปิดมานานกว่า 118 ปี ที่มีประวัติมาตั้งแต่รุ่นปู่ ผู้พิชิตโจทย์สุดหินของ Nawab แห่งราชวงศ์ลัคเนาที่สูญเสียฟันทั้งหมดไป โดยเขาต้องการสูตรอาหารที่ใกล้เคียงกับเคบับในรูปแบบที่คนไม่มีฟันสามารถกินได้ จนเกิดเป็นจานซิกเนเจอร์ที่ได้รับการยอมรับจาก Nawab ผู้นั้น และกลายเป็นเมนูที่คนทั่วอินเดียตั้งใจเดินทางมาเพื่อลิ้มลองจวบจนปัจจุบัน และด้วยคุณปู่เป็นผู้พิการทางมือที่มีชื่อเรียกว่า Tunday ซึ่งก็คือที่มาของชื่อร้านนั่นเอง

อาหารของที่ร้านนั้นมีส่วนผสมเครื่องเทศกว่า 160 ชนิด เป็นสูตรลับเฉพาะครอบครัวที่ยากจะเลียนแบบ โดยเฉพาะ ‘Tunday Galawati Mutton/Beef Kebab’ มีให้เลือกเนื้อควายและแกะนำมาบดละเอียดผสมอินเดียเฮิร์บ ปั้นเป็นก้อนแล้วทอดบนกระทะ จัดเสิร์ฟพร้อมหอมแดง พริก กินคู่กับแป้งนาน เท็กซ์เจอร์ของเนื้อนั้นนุ่มละลายแบบใช้แค่ลิ้นดุนก็สามารถกลืนลงคอได้ ส่วนแป้งร้านเขาก็ทำได้เหนียวนุ่มเนื้อบางเบาไม่หนักท้อง แล้วยังมีเมนูเบสิกอย่าง ‘Chicken Tikka’ ไก่แสนละมุนย่างพร้อมสมุนไพรที่ไม่ฉุนจนเกินไป และเมนูที่ลองสุ่มสั่งมาแล้วดันอร่อยสุด ๆ ‘Chicken Biryani’ ข้าวหมกไก่ที่ใช้ข้าวบาสมาตีนุ่มหนึบ หอมกลิ่นกระวาน อบเชย เผ็ดร้อนนิด ๆ กินกับแกงแล้วมันเดอะเบสต์มาก

012 The Hazelnut Factory

แล้วก็ถึงเวลาของสายฮอปที่เราจะพามาล่าคาเฟ่กันแบบเบา ๆ แต่จัดหนักทุกร้าน เริ่มที่ ‘The Hazelnut Factory’ ร้านแสนชิคที่เปลี่ยนอินเดียนสตรีท ให้กลายเป็นถนนสไตล์ยุโรปได้ในพริบตา คาเฟ่ร้านนี้ถือเป็นแบรนด์ที่ใหญ่ที่สุดของรัฐ Uttar Pradesh มีคอนเซปต์เป็นร้านที่ครบจบเรื่องของหวาน ไม่ว่าจะเป็นขนมอบ ครัวซองต์ ขนมปัง เค้ก และขนมอินเดีย ที่เน้นความพิถีพิถันในโรงงานขนาดใหญ่ ควบคุมคุณภาพทุกชิ้น จนได้ขนมหน้าตาสวยงามมาพร้อมกับรสชาติแสนดี พร้อมด้วยเมนูเครื่องดื่มอันหลากหลายที่เราจะมาแนะนำกันในวันนี้

เริ่มจากขนมแปลกตาที่หากินไม่ได้แน่นอนในไทยก่อน กับเหล่าของหวานอินเดียที่ทางร้านวางขายเป็นคำ ๆ ชิ้นที่เราลองแล้วประทับใจคือ ‘Choco Hazelnut Delight’ ให้ฟีลลิ่งถั่วคาราเมลกลิ่นฮาเซลนัท หวาน ๆ นัว ๆ ‘Osh Al-bul Bul’ แป้งเส้นเล็ก ๆ ทรงคล้ายรังนกจิ๋วทอดกรอบ ภายในอัดแน่นไปด้วยธัญพืชเชื่อม หวานกรอบเคี้ยวเพลิน หรือจะเป็นขนมที่ทำจากนมแพะ ซึ่งจะมีความหวานมาก ๆ ริชมากแล้วแต่คนชอบ ส่วนชิ้นที่เพลย์เซฟสุดคือครัวซองต์อัลมอนด์ ที่กินแล้วรู้สึกได้ถึงความสดใหม่ กรอบนอกนุ่มในหอมกลิ่นเนยกินตัดกับ Cold Coffee รสชาติหวานละมุนเข้มข้นฟีลลิ่งเอสเย็นของไทยแล้วดีงามสุด ๆ 

013 Royal Cafe

ร้านสุดท้ายของทริปแต่เป็นร้านที่เปิดประสบการณ์แรกกับขนมอินเดียประเภทโยเกิร์ต ‘Royal Cafe’ อีกเครือร้านอาหารชื่อดังของ Uttar Pradesh จัดเสิร์ฟอาหารอันหลากหลาย ที่เน้นความเป็น Traditional Lucknow มองจากด้านหน้าเหมือนจะเป็นร้านอาหารสตรีทฟู้ดธรรมดา มีกระทะทอด โซนย่าง พร้อมพ่อครัวยืนทำอาหารหม้อใหญ่แบบไม่หยุดมือ เมื่อเดินลึกเข้าไป เราจะเจอโซนร้านสุดยิ่งใหญ่ ที่สามารถจุลูกค้าได้หลายสิบโต๊ะ รองรับได้ทั้งกลุ่มเล็กกลุ่มใหญ่ คิดว่าถ้ามาช่วงเย็นบรรยากาศน่าจะคึกคักน่าดู

เมนูดังของร้าน ‘Basket Chaat’ ของหวานที่สร้างความเอ๊ะ! ตั้งแต่จัดเสิร์ฟ กับหน้าตาที่เหมือนจะเป็นของคาว ด้านล่างคือมันฝรั่งทอดที่ทำเป็นตะกร้า จัดวาง papdi เวเฟอร์กรอบชิ้นเล็ก ๆ Aloo Tikki มันฝรั่งบด bhalle แป้งก้อนกลมทอดนุ่ม ๆ กินกับโยเกิร์ตที่ราดมาฉ่ำ ๆ รสเปรี้ยวหวาน มีโทนมะขามนิด ๆ เย็นชื่นใจ พร้อมกลิ่นเครื่องเทศหลายชนิดโชยตีจมูก มีความเผ็ดเล็ก ๆ ผุดขึ้นที่ปลายลิ้นเบา ๆ เอาจริง ๆ คนที่ชอบอาหารอินเดียจะต้องชอบขนมถ้วยนี้ แต่ถ้าเป็นคนกินยากก็ลองสั่งมาเป็นประสบการณ์ได้เลย ถือเป็นมื้อปิดจบทริปที่แสดงคาแรกเตอร์ลัคเนาได้สมมงสุด ๆ

ลัคเนาถือเป็นอีกเมืองใหญ่ของอินเดียที่เราไม่อยากให้มองข้ามไปเลยจริง ๆ ด้วยความที่นักท่องเที่ยวต่างชาติยังไม่เยอะมาก ทำให้ผู้คนค่อนข้างเป็นธรรมชาติ ไม่ค่อยวิ่งเข้าหาเหมือนเมืองป็อป ๆ ออกจากเขินเราซะด้วยซ้ำ มันทำให้เราเห็นความน่ารักของอินเดียอีกมุมหนึ่ง แถมที่เที่ยวยังอยู่ไม่ไกลกันมาก แต่ละสถานที่ก็อลังการระดับประเทศทั้งนั้น ค่าครองชีพไม่แพง ใครมีวันหยุดสัก 3 วัน ก็ลองแวะมาเที่ยวเล่นกันดู แล้วเดี๋ยวรอบหน้าเราจะพาไปอินเดียเมืองไหนอีก อย่าลืมติดตามกันไว้นะ