รีวิวอินเดีย :: Ahmedabad To Udaipur – Get Lost In The Beauty Of Its Lakes And Palaces 🇮🇳

ชวนเที่ยวแดนดินถิ่นภารตะ 5 วันแบบติดแกรม ด้วยการโลดแล่นสู่เมืองสุดแกรนด์เจ้าของฉายา City of Lake ที่ขึ้นชื่อเรื่องความโรแมนติกที่สุดในอินเดีย

อินเดียปลายปีรอบนี้เราขอพาทุกคนไปเริ่มต้นทริปด้วยการรับไอเย็นกันที่ Udaipur เมืองสีขาวที่มีทะเลสาบ Pichola เป็นแลนด์มาร์กหลัก ห้อมล้อมด้วยพระราชวัง วิหาร บ้านเรือนที่สร้างออกมาได้คุมธีมสีโทนอ่อน กวาดสายตาไปทางไหนก็เจอแต่ความละมุน พระอาทิตย์ตกมุมไหนก็มีแต่ความโรแมนติก พร้อมประวัติศาสตร์สมมงรัฐราชสถานอันอู้ฟู่ จับคู่ชูชื่นมากับ Ahmedabad เมืองมรดกโลกแห่งแรกของประเทศ ณ รัฐคุชราฏ ที่มีทั้งคาเฟ่ ร้านอาหาร แหล่งท่องเที่ยวแสนประเสริฐ เป็นการเปิดบันทึกหน้าใหม่ในการเที่ยวอินเดียฤดูหนาว เหมาะให้สาวอินเนอร์มหาราณีอย่างเรา ๆ มาเดินเก๋สะบัดผ้าคลุมแบบโอตกูตูร์ที่สุด

สำหรับการเดินทางไปเที่ยว อุดัยปูร์ เพื่อน ๆ สามารถบินตรงไปเร่ิมทริปกับแอร์เอเชียได้จากทั้งชัยปุระ หรืออัห์มดาบาดก็ได้ สะดวกม๊ากกก!!!!

Day 0 : Flights to Ahmedabad with AirAsia

สำหรับเดสทิเนชันหลักของเราในครั้งนี้คือเมือง Udaipur ซึ่งแน่นอนว่าเราสามารถจัดรูทเจ๋ง ๆ ด้วยการเดินทางกับ AirAsia สายการบินราคาประหยัดที่ดีที่สุดในโลก 15 ปีซ้อน โดยบินตรงลงชัยปุระจากแล้วจัด road trip ราชสถานไปอุดัยปูร์ก็เก๋ หรือจะเที่ยวเท่ ๆ สองรัฐบินลง Amedabad แบบเราก็ไม่ติด เพราะเส้นทาง DMK – AMD เขามีให้เลือกสัปดาห์ละ 3 เที่ยว ใช้เวลาแค่ 4.20 ชม. ถือเป็นระยะเวลากำลังดี เอ็นจอยกับบริการบนเครื่องประหนึ่งฟูลเซอร์วิสได้ เพียงกดจองตั๋วพร้อมแพ็กสุดคุ้ม ที่ได้ทั้งน้ำหนักกระเป๋า อาหารอุ่นร้อน และเลือกที่นั่ง ในราคาประหยัดสูงสุด 20% และอย่าลืมกดซื้อประกันการเดินทางเผื่อเกิดเหตุการณ์ไม่คาดฝัน เหงื่อจะได้ไม่ตก จำไว้เลยนะ..ว่ากดจองบริการเสริมล่วงหน้าคุ้มกว่าเสมอ!!! 

Day 1 : Jagmandir Island Palace – City Palace of Udaipur – Lake Pichola Hotel

Jagmandir Island Palace
หลังจากที่นอนชาร์จเอเนอร์จีจนเต็ม เช้านี้เราก็ออกเดินทางจาก Ahmedabad แต่เช้า มุ่งตรงไปยังโลเคชันแรกที่ตั้งอยู่ใจกลาง Lake Pichola ทะเลสาบที่ขุดขึ้นเพื่อกักเก็บน้ำไว้ใช้บริโภคแก่คนทั้งเมือง Udaipur เรียกว่าเล่นใหญ่เล่นโตสุด ๆ เพราะในทะเลสาบแห่งนี้มีสิ่งปลูกสร้างสุดแกรนด์ตั้งอยู่มากมาย หนึ่งในนั้นคือพระราชวังกลางน้ำที่มีชื่อว่า‘Jagmandir Island Palace’ โดยเราสามารถตีตั๋วจากฝั่งนั่งเรือข้ามมาได้แบบชิล ๆ วิวระหว่างทางบอกเลยว่าโรแมนติกสุด ๆ เห็นทั้งอาคารริมน้ำทรงอินเดียคลาสสิกอันโอ่อ่า ใช้สีโทนขาวครีมน้ำตาลอย่างถูกต้อง มีแสงแดดทอประกายบนผิวน้ำ มันเพลินตาเพลินใจไปหมด 

โดยเรือข้ามฟากนี้จะมีทุกวันตั้งแต่ 10:00 – 18:00 น. ช่วงเช้าราคาอยู่ 450 รูปี แต่ถ้ามาขึ้นหลัง 15:00 น. ราคาจะอยู่ที่ 700 รูปี เพราะเป็นรูทชมพระอาทิตย์ตกดินที่สวยงามอีกจุดของเมืองนั่นเอง ใช้เวลาราว ๆ 20 นาทีเราก็เทียบท่าถึงเกาะสวรรค์ที่สวยจนแทบกรี๊ด เหล่าต้นไม้น้อยใหญ่ถูกปลูกตัดแต่งห้อมล้อมพระราชวังที่สร้างจากหินอ่อน และหินทรายสีเหลืองความสูง 3 ชั้น ออกแบบโดยได้รับแรงบันดาลใจมาจากทัชมาฮาล โดย Maharana Karan Singh II เมื่อ 400 กว่าปีก่อน มีความพิถีพิถันแบบว่ากวาดกล้องไปทางไหนก็เจอแต่มุมถ่ายรูปเก๋ ๆ สมมงเมือง Photogenic ของแท้ ขึ้นกล้องสุด ๆ 

นอกจากมุมถ่ายรูปจึ้ง ๆ กลิ่นอายประวัติศาสตร์แน่น ๆ เขายังมีสวนให้เราเดินทอดน่องนั่งชิลฟีลปิกนิก และร้านอาหารกึ่งคาเฟ่ สำหรับนั่งชมนกชมไม้ เอ็นจอยกับสายลมและสายน้ำที่พัดผ่านในร้าน ‘The Darikhana’ ร้านอาหารอินเดียที่มีมุม outdoor แสนเก๋ เป็นเก้าอี้สูงสีขาวส้ม ตัดกับสีฟ้าครามของทะเลสาบ มีกรอบหน้าต่างฉลุลายงามให้เราโพสท่าได้หนึ่งแมตช์ ลองสั่งกาแฟและแซนด์วิชมานั่งจิบ ก็ได้ไวบ์พักผ่อนที่ดีผิดคาดเหมือนกัน

City Palace of Udaipur

กลับสู่แผ่นดินหลักแล้วไปจึ้งกันต่อกับแลนด์มาร์กประจำเมือง ‘City Palace of Udaipur’ พระราชวังที่ใหญ่ที่สุดในแคว้นราชาสถาน ที่อยู่คู่บ้านคู่เมืองมานานถึง 465 ปี สร้างอยู่ริมทะเลสาบ Pichola โดย Maharana Udai Singh และขยายขึ้นเรื่อย ๆ โดยผู้ปกครองรุ่นหลัง ๆ ใหญ่ขนาดมีพระราชวังรวมอยู่ 11 หลัง โครงสร้างนั้นทำจากหินแกรนิตและหินอ่อน ด้วยสถาปัตยกรรมแบบราชธานี และโมกุล ด้านนอกจะเป็นป้อมปราการที่ผสมงานสถาปัตยกรรมยุโรปและจีนยุคกลางเข้าด้วยกัน เร่ิมเปิดให้บุคคลทั่วไปเข้าชมได้เมื่อปี 1969 นอกจากได้ชมงานออกแบบสวย ๆ แล้ว ยังกลายเป็นอีกจุดชมวิวเมืองริมทะเลสาบที่งดงามอีกแห่งเลยทีเดียว 

แม้ภายนอกจะดูคุมโทนสีขาวครีม แต่ข้างในนั้นเต็มไปด้วยสีสันอันหรูหรา มีทั้งงานแกะสลักอันวิจิตรบรรจง ติดกระเบื้องสร้างลวดลาย กระจกแก้วสีสดใส ภาพศิลปะอันอ่อนช้อย พร้อมสิ่งประดิษฐ์แปลกตามากมาย จนสามารถจัดแสดงเป็นพิพิธภัณฑ์งานอาร์ตได้เลยทีเดียว ทั้งหมดนี้บ่งบอกถึงฐานะอันมั่งคั่ง ความเฟื่องฟูด้านทรัพย์สิน วัฒนธรรม และศิลปะได้แบบถึงแก่น!! ทางเดินภายในค่อนข้างซับซ้อนชวนหลงใหลคล้ายเขาวงกต แบ่งห้องไว้มากมาย พร้อมข้าวของเครื่องใช้ที่ยังคงถูกจัดวางอย่างสวยงาม ทำความสะอาดให้ดูวิบวับน่ามอง เรียกว่าเป็นโลเคชันที่เปลืองชัตเตอร์สุด ๆ 

หลังจากหลงมัวเมากับความงามภายในเสร็จ เดินเลาะออกมาบริเวณข้างพระราชวังที่ติดกับริมทะเลสาบเป็นสปอตสุดปังที่ให้เราเห็นวิวทิวเขาสลับทับซ้อนอยู่ไกล ๆ ไล่เข้ามาหน่อยเป็นภาพอาคารกลางทะเลสาบที่กระจายกันอยู่หลายแห่ง พอเจอแสงส้มสาดลงผืนน้ำสะท้อนระยับตาก็ยิ่งโรแมนติกขึ้นแบบทวีคูณ เติมแต่งความมีชีวิตชีวาด้วยเหล่าฝูงนกบินกลับรัง เรือนักท่องเที่ยวลอยลำกลางเวิ้งน้ำ ถือเป็นฉากปิดวันแรกที่ตราตรึง อินเดียเขาสร้างเซอร์ไพรส์ได้ไม่หยุดหย่อนเลยจริง ๆ 

Lake Pichola Hotel

เรื่องการหลับนอนในเมือง Udaipur ทั้ง 3 คืนเราเลือกพักที่ ‘Lake Pichola Hotel’ ที่มอบความสงบเป็นส่วนตัว แม้จะอยู่ห่างจากเมืองเก่าอันพลุกพล่านเพียงนิดเดียว แต่เดิมที่นี่เป็นปราสาทที่สร้างโดย Maharana Udai Singh II อายุกว่า 465 ปี เป็นที่อยู่อาศัยของตระกูล Piplia ขุนนางเก่าแก่ ก่อนลูกหลานได้ปรับพื้นที่เปิดเป็นโรงแรม ต่อเติมตกแต่งให้ดูร่วมสมัย ถูกตาต้องใจผู้คนที่เดินทางมาจากทั่วโลก เราชอบตั้งแต่หน้าประตูที่ติดกระเบื้องโมเสกหลากสีเป็นรูปนกยูง วัว ควายแต่งองค์ทรงเครื่อง เดาว่าเป็นภาพมงคลของอินเดีย เดินเข้าไปเจอล็อบบีแสนโอ่อ่า มีโคมระย้า ดีเทลแน่น ฟีลลิงแหล่งพักพิงของมหารานี มองไปตรงไหนก็เจอแต่ความระยิบระยับ

ที่ถูกใจที่สุดเห็นจะเป็นระเบียงที่ทอดยาวไปตามริมน้ำ ซึ่งเราเห็นครั้งแรกจากอินสตาแกรมแล้วถึงกับต้องกดจองมาพักแทบจะทันที กิมมิกของจุดนี้มีซุ้มสไตล์อินเดียสีขาวที่ถูกพันรอบด้วยดอกเฟื่องฟ้าสีชมพูดูหวานหยดย้อย จนอยากจูงมือแฟนมาร่วมเฟรม จัดวางชุดโต๊ะเก้าอี้สานสีขาว พร้อมร่มสีเดียวกันมาช่วยบังแดด แต่งแต้มลวดลายใบไม้ดอกไม้ให้ดูลูกคุณเพิ่มขึ้นอีกสิบเท่า เคล้าไปกับวิวของ City Palace of Udaipur ที่อยู่ฝั่งตรงข้าม เหมาะแก่การกินข้าวเช้า หรือจิบ Afternoon Tea ใช้ชีวิตติดแกรมได้อย่างแท้ทรู

สำหรับคนที่อยากมานอนพักที่นี่เขามีห้องให้เลือกหลายไทป์ ห้องที่หันออกทะเลสาบจะมีทั้งแบบ Deluxe / Suite มีชานระเบียงพร้อมกรอบหน้าต่างลายฉลุแบบอินเดียให้ไปนั่งจิบกาแฟทำทรง ส่วนห้อง Standard จะเป็นวิวสวน วิวเมือง แต่ละห้องถูกออกแบบอย่างหรูหรา ใช้ชุดเฟอร์นิเจอร์ไม้ทรงวินเทจแตกต่างกันไป ครบครันไปด้วยสิ่งอำนวยความสะดวกแบบที่เอามาแค่เสื้อผ้าก็พร้อมอยู่ได้เลย 

Day 2 : Walk Around old city – Jagdish Temple – Jagat Niwas Palace cafe – Bagore Ki Haveli – Gangour Ghat – Riding Boat at Picho Lake

Walk Around Old City

เริ่มต้นวันสาย ๆ ชิล ๆ ให้สมกับความเป็นเมือง Slow life ด้วยการมาเดินเล่นหาความน่ารักในย่าน Down Town ชมความโลคอลของมหานครสีขาวกันสักหน่อย บอกเลยว่าทุกจุดมันดูน่ามองและชวนฉงนไปพร้อม ๆ กันซะหมด สังเกตอาคารจะมีความอินเดียผสมยูโรเปียนใส ๆ ร้านรวงแต่ละแห่งก็เป็นเหมือนเฟรมชั้นเยี่ยมให้เราเอาร่างไปแทรกไว้ถ่ายรูป และยังเป็นแหล่งละลายทรัพย์ชั้นดีกับของที่ระลึกเก๋กรุบสไตล์อินเดียอินใจในราคาย่อมเยา เรียกว่าเงิน 1 แบงก์แดงไทยสามารถซื้อของได้หลายชิ้นเลยทีเดียว แนะนำว่าให้ปล่อยใจจอย ๆ เดินไปแบบไร้จุดหมายเราจะเจอเสน่ห์ที่เตะตาของย่านนี้เยอะมาก ใครเป็นสายกินแล้วชอบลองอะไรใหม่ ๆ ก็ขอเรียนเชิญได้ เพราะสตรีทฟู้ดที่เราไม่เคยพบเห็นมีอยู่เพียบ! แถมชาวบ้านยังส่งรอยยิ้มให้ตลอดทาง ม่วนสุด ๆ 

Jagdish Temple

ท่ามกลางร้านค้ามากมายเราสะดุดตากับ ‘Jagdish Temple’ วัดที่ตั้งอยู่บนเนินสูงเห็นคนเดินขึ้น-ลงไม่ขาดสาย ที่นี่เป็นศาสนสถานฮินดูอันยิ่งใหญ่ที่สุดของเมือง Udaipur ที่สร้างเพื่ออุทิศแก่พระวิษณุผู้รักษาสมดุลแห่งจักรวาล เป็นสถาปัตยกรรมแบบอินโด-อารยัน มีงานแกะสลักที่ละเอียดละออทั้งภายนอกและภายใน อาคารหลักมียอดแหลมสูง 79 ฟุตที่ถูกตกแต่งด้วยงานปั้นรูปช้าง นักดนตรี นักเต้น และคนขี่ม้า และหน้าวัดยังมีแผ่นจารึกเกี่ยวกับ Maharaja Jagat Singh ตรงกลางเป็นศาลเจ้าที่มีรูปปั้นองค์พระวิษณุ ห้อมล้อมทั้ง 4 ทิศด้วยศาลสุริยเทพ พระอิศวร พระพิฆเนศ และพระตรีศักติ ถือเป็นวัดที่สายมูไม่ควรพลาดเลยล่ะ

Jagat Niwas Palace cafe

หลังจากอิ่มตาอิ่มใจกับบรรยากาศเมืองเก่าแล้ว เราก็มาตามหาความอิ่มท้องสไตล์คนคูลกันที่ ‘Jagat Niwas Palace cafe’ คาเฟ่สีขาวสุดอลังริมทะเลสาบที่อยู่ภายในโรงแรม Jagat Niwas แค่เห็นด้านหน้าก็เกือบสติหลุด เผลอถอดรองเท้า คลานเข่าเข้าไปจริง ๆ มันดูลักชูสมฐานะราชสถานเป็นที่สุด แม้จะเป็นโครงสร้างเก่าแก่ แต่การจัดวางออกจะสากล เว้นสเปซกว้าง ๆ ให้ถ่ายรูปออกมาได้เก๋กู้ด เป็นกลิ่นอายของสาวตาคมที่สวมหมวกแบบผู้ดีอังกฤษ มีวิถีชีวิตยามบ่ายด้วยการจิบชาร้อนและสโคนคู่กับแยมเสาวรส เราเลือกที่นั่งวิวทะเลสาบที่เขาจัดวางเบาะนุ่มนิ่มลายดอกบัว กับหมอนอิงสีขาว มีหน้าต่างโค้งฉลุลาย เป็นมุมถ่ายรูปแอคท่าคูล ดูไฮไซโก้เก๋ ใช้หางตามองเรือที่กำลังแล่นผ่านไปมาในทะเลสาบ 

จิบน้ำส้มที่สั่งมาได้สองสามอึก อาหารหน้าตาฟิวชันก็เริ่มทยอยลงโต๊ะ โดยสไตล์อาหารของเขามีทั้งแบบ North Indian, Italian, Chinese, Continental, Mughlai ไปจนถึงขนมและเครื่องดื่ม  ถ้าเพื่อนร่วมทริปใครกินยากเราแนะนำเลย ขอการันตีเรื่องรสชาติว่ามีความอินเตอร์กินง่าย สะอาด ถ่ายรูปสวย ส่วนอาหารท้องถิ่นก็เรียกว่าทำถึงมีความเครื่องเทศใด ๆ ครบ ตอบโจทย์ทุกสไตล์การกินแน่นอน ใครที่มีภาพจำอาหารอินเดียแบบลบ ๆ ขอให้ลองมองใหม่ เพราะร้านดี ๆ ก็เลิศเกิน โดยเฉพาะรอบนี้กินฉ่ำ น้ำหนักไม่ลดเลยสักขีด

Bagore Ki Haveli

จากนั้นเรามาลับคมสมองกันบ้างกับการชมประวัติศาสตร์จุก ๆ ที่ ‘Bagore Ki Haveli’ อีกอาคารอันโดดเด่นที่ตั้งอยู่ริมน้ำ ฉาบทับด้วยสีเหลืองจากหินทราย สร้างขึ้นในช่วงศตวรรษที่ 18 ใช้เวลาสร้างนานถึง 27 ปี เคยเป็นที่พักของราชวงศ์ Mewar และถูกใช้เป็นสถานที่พักของเจ้าหน้าที่รัฐจนมีสภาพทรุดโทรม จากนั้นก็ได้รับการปรับปรุงครั้งใหญ่เปลี่ยนผันมาเป็นมิวเซียม ที่แบ่งห้องได้มากกว่า 138 ห้อง มีการบูรณะอาคาร การตกแต่งด้วยงานกระจกและจิตรกรรมฝาผนังให้กลับมาเหมือนใหม่ สะท้อนวัฒนธรรมอันสูงส่งของราชวงศ์ได้อย่างดีทีเดียว 

ส่วนคอลเลกชันที่เขาจัดแสดงมีทั้งเครื่องแต่งกายอันหรูหรา งานศิลปะที่มีกลิ่นอายของประวัติศาสตร์ พร้อมกับงานอาร์ตร่วมสมัยที่ชวนฉงนอยู่มากมาย แม้ว่าเพื่อน ๆ จะไม่ใช่สายอาร์ต แต่เราก็คิดว่าการตีตั๋วราคา 100 รูปีก็ถือว่าคุ้มค่า เพราะทัศนียภาพโดยรอบนั้นเรียกว่าสวยตาแตก ทั้งวิวทะเลสาบด้านนอกที่มองออกจากอาคาร โถงทางเดินกว้างขวาง กรอบประตูหน้าต่างที่สร้างลวดลายด้วยแสงเงายามแดดสาดส่อง ขอ FYI สักนิดกับคำว่า Haveli (ฮาเวลี) มาจากภาษาอาหรับแปลว่าการแบ่งกั้น จึงกลายเป็นชื่อเรียกของที่อยู่อาศัยกลุ่มทาวน์เฮาส์ และแมนชันแบบดั้งเดิมของอินเดีย ซึ่งเราอาจจะพบเห็นคำนี้ได้บ่อย ๆ

Gangaur Ghat

ออกจากมิวเซียมขอให้เลี้ยวมาทางซ้ายก่อนสักนิด เราจะเจอกับ ‘Gangaur Ghat’ ท่าน้ำที่เต็มไปด้วยชีวิตและจิตวิญญาณ สตันสุด ๆ กับความสวยงามของบันไดหน้ากว้างประดับด้วยกระเบื้องสีสดใสลาดลงสู่ทะเลสาบ ด้านหลังเป็นซุ้มประตูสูงใหญ่สีเหลืองที่มีงานแกะสลักฉากต่าง ๆ จากตำนานฮินดูที่งดงามไม่แพ้ที่ไหน ห้อมล้อมด้วยวัดของเทพเจ้าฮินดูมากมาย และยังเป็นที่ประกอบพิธีสำคัญในการเฉลิมฉลองแก่พระแม่เคารี (goddess Gauri) อวตารปางที่ 8 ของพระแม่ทุรคา ผู้มีพระวรกายสีทอง เป็นเทศกาลของผู้หญิงมาขอพรเรื่องการหาคู่ครอง การแต่งงานและเป็นที่รักในครอบครัวนั่นเอง แต่ถ้ามาช่วงไม่มีงาน ที่นี่ก็เป็นเหมือนสถานที่พักผ่อนหย่อนใจของชาวเมืองดี ๆ นี่เอง

Manshapurn Karni mata Ropeway Udaipur

อีกกิจกรรมไฮไลต์ที่เหมาะกับช่วงบ่ายแก่ ๆ คือการนั่งกระเช้าไปชมวิวจากมุมสูงกันที่ ‘Manshapurn Karni mata Ropeway Udaipur’ เชื่อมต่อระหว่างวัด Sri Karni Mata บนยอดเขา Machhala และอุทยาน Deendayal Upadhyay ในเมือง Udaipur เปิดให้บริการมากว่า 16 ปีแล้ว โดยมีระยะทางอยู่ที่ 387 เมตร ระหว่างที่กระเช้าเคลื่อนตัวเราจะได้เห็นวิวเมืองที่เล็กลงเรื่อย ๆ กว้างออกไปสู่ทะเลสาบอันยิ่งใหญ่ ตลอดจนทิวเขาที่ห้อมล้อมเมืองเอาไว้ ขนาดยังไม่ถึงยอดก็ยังเจอวิวสวยสะกดสุด ๆ ที่นี่เปิดให้ขึ้นตั้งแต่ 9:00 – 21:00 น. ราคาอยู่ที่ 300 รูปี

ด้วยความที่เป็นคนกะเวลาเก่ง กะเวลาปัง วิวที่ขึ้นมาถึงเราก็เจอกับพระอาทิตย์กำลังทอดตัวลงสู่หุบเขาอันไกลโพ้นพอดี ทำให้เราเห็นทั้งทะเลสาบ เมือง และป่าบริเวณเนินเขาที่อยู่ใต้เท้าเรากลายเป็นสีทองทอประกาย หันมองได้รอบ 180 องศา กว้างขวางเกินกว่ากล้องจะจับภาพได้หมด เลยต้องกอบเก็บความสวยงามเป็นภาพจำในสมองแทน แล้วบนนี้มีลมโกรกดีมาก ลองมานั่งชิลที่คาเฟ่ ร้านอาหาร ที่เป็นระเบียงด้านบนก็จัดว่าเด็ดอยู่เหมือนกัน

Day 3 : Aosa Cafe – Bakehouse & Roastery – Monsoon Palace/ Sajjangarh Fort  – Manshapurn Karni mata Ropeway Udaipur – Ambrai Restaurant

Aosa Cafe – Bakehouse & Roastery

ตัดความเลี่ยนจากสถาปัตยกรรมเก่าแก่สักหน่อย ด้วยการมาฮอปคาเฟ่ที่ดูสมัยใหม่ขึ้นอีกนิด ‘Aosa Cafe – Bakehouse & Roastery’ ร้านกาแฟแบบ Specialty และเบเกอรีสไตล์ฝรั่งเศสแห่ง Udaipur ที่รังสรรค์ทุกเมนูจากมืออาชีพ พร้อมดื่มด่ำบรรยากาศร้านที่มีความโฮมมีผสมโมเดิร์น เน้นใช้สี earth tone เป็นครีม น้ำตาล ขาว แต่งแต้มด้วยต้นไม้สีเขียวทั้งโซน indoor- outdoor เลือกใช้เฟอร์นิเจอร์ ชั้นวาง ของตกแต่งที่มีความคราฟต์สบายตาแตกต่างจากความวุ่นวายนอกรั้ว ทำให้เรารับรู้ได้ถึงความประณีต พิถีพิถันของร้านแทบทุกโสตสัมผัส 

เมนูของร้านนั้นมีทั้งคาว-หวาน ออกแนวฟิวชัน ครีเอตสุด ๆ นำเครื่องเทศสุดป็อปอย่าง Masala มาปรุงเป็นอาหารอินเตอร์ หรือจะกินเป็นอาหารตะวันตกเลยก็ได้ไม่ว่ากัน แต่สายของหวานอย่างเราลองสั่ง Framboise & Mascarpone Danish ที่มีความหอมเนยจากเนื้อขนมปังกรอบนอกนุ่มใน ผสานครีมและเบอร์รีหวานซ่อนเปรี้ยว และ Pancake Stack แป้งเนื้อนุ่มที่โบกทับด้วยวิปครีมนัว ๆ มีรสชาติหวานหอมจากแยมผลไม้รวม และซอสคาราเมลกล้วยอุ่น ๆ เป็นขนมหวานที่กินกับกาแฟนมแล้วมันละมุนไปหมด เอาดี ๆ ก็เต็ม 10 ไม่หักอยู่นะ ว่าบาป!!!

Monsoon Palace/ Sajjangarh Fort

ออกนอกเมืองมาอีกนิดเพื่อพิชิตพระราชวังบนยอดเขาสูงนามว่า ‘Monsoon Palace/ Sajjangarh Fort’ สถานที่ที่คุมโทนสีได้อย่างดี กวาดมองไปทางไหนก็เจอความขาวสะอาดกระแทกตาไปหมด เอาใจคนที่ชอบถ่ายรูปสไตล์มินิมอลได้เต็มสิบ ที่นี่สร้างอยู่บนเขา Banasdara ส่วนหนึ่งของเทือกเขา Aravali เมื่อ 140 ปีก่อน โดย Maharana Sajjan Singh ผู้มีวิสัยทัศน์กว้างไกล มีบทบาทมากมายมายในการพัฒนาเมือง โดยตั้งใจให้ที่นี่เป็นศูนย์กลางทางดาราศาสตร์ และเป็นแหล่งพักพิงช่วงมรสุม หรือที่พักระหว่างล่าสัตว์ของราชวงศ์ สร้างด้วยปูนฉาบสีขาวและหินอ่อนสีขาว แต่ด้วยพระองค์ได้สิ้นพระชนม์เสียก่อน จึงยังสร้างไม่เสร็จตามแปลนที่วางไว้

ถึงแม้ว่าจะยังไม่เสร็จสมบูรณ์แต่ที่นี่ก็ถูกออกแบบมาได้อลังการงานสร้างสุด ๆ ตั้งแต่ด้านนอกที่มีรูปปั้น Maharana Pratap ทำจากสำริดขนาดใหญ่ มีน้ำพุ เสาหินอ่อนแกะสลักเป็นลายดอกไม้สะท้อนถึงวัฒนธรรม และศิลปะอันอ่อนช้อยของราชสถาน ภายในถูกแบ่งออกเป็นซานานามหัล (ห้องสำหรับผู้หญิง) และมาร์ดามหัล (ห้องสำหรับผู้ชาย) ป้อมยังประกอบด้วยดิวาน-เอ-คาส (ห้องโถงสำหรับผู้เข้าร่วมพิธีส่วนตัว) และดิวาน-เอ-อาม (ห้องโถงสำหรับบุคคลทั่วไป) มีการจัดนิทรรศการศิลปะไว้ในห้องชั้นล่าง พร้อมระบบน้ำดั้งเดิมที่เก็บน้ำได้มากถึง 195,500 ลิตร เรียกว่ามาที่เดียวได้ทั้งความรู้ พร้อมรูปกลับไปอัปโซเชียลอีกเพียบ!!

Romantic Sunset Boatride at Pichola Udaipur

เมื่อตอนเย็นของวันแรก… เราได้ดื่มด่ำพระอาทิตย์ตกดินริมทะเลสาบ วันที่สองนั่งกระเช้าขึ้นไปชมจากมุมสูง เย็นวันสุดท้ายในเมืองนี้เราขอมาล่ำลาแบบแกรนด์ ๆ บนผิวน้ำกันบ้าง ที่ใจกลาง ‘Pichola Udaipur’ ทะเลสาบที่ใหญ่ที่สุดของเมือง สร้างขึ้นด้วยน้ำมือมนุษย์เมื่อ 662 ปีก่อนโดยชนเผ่า Banjara ต่อมา Maharana Udai Singh ได้เข้ามามีบทบาทในพื้นที่และขยายทะเลสาบให้ใหญ่ขึ้น เริ่มสร้างเกาะและพระราชวังทำให้มีมนต์เสน่ห์ไม่เหมือนที่ไหนในอินเดีย ทำให้ทุกยามเย็นของเมืองเคลือบไปด้วยความโรแมนติก ชมแสงส้มที่ทอลงอาคารสีขาวครีมสร้างโทนที่กลมกล่อม แซมสีเขียวแล้วมันงดงามจนไม่อยากให้กลับขึ้นฝั่งเลย

Ambrai Restaurant

มื้อเย็นวันนี้เรามาฝากท้องกันที่ ‘Ambrai Restaurant’ ร้านหรูริมน้ำยอดฮิตของเมือง ตั้งอยู่ภายในโรงแรม Amet Haveli ที่มีอายุมากกว่า 300 ปี ตกแต่งผสานความทันสมัยและแบบดั้งเดิมเข้าด้วยกัน เป็นการดินเนอร์ใต้แสงเทียนที่มีวิวด้านหลังเป็น City Palace, Jagdish, Gangaur Ghat และ Lake Palace ที่เราไปเช็กอินมาแล้ว ภาพยามค่ำคืนที่เขาเริ่มเปิดไฟตามตึก ท้องถนน เห็นรถแล่นผ่านไปมาแล้วอย่างกับภาพศิลปะขยับได้ ส่วนอาหารเป็นแบบนานาชาติมีทั้งอินเดียเหนือ ตะวันตก โมกุล เอเชีย เราสั่งเป็นพิซซา ไก่ย่าง สลัด แป้งนาน เรียกว่าไม่ได้คุมธีม แต่โดยรวมพอจิบกินคู่ไวน์แล้วอร่อยเวอร์ แถมบรรยากาศยังนั่งเพลิน ๆ ยาว ๆ ได้ทั้งคืนเลย 

Day 4 : Ambrai Restaurant – Rani Ki Vav – Modhera Sun Temple – Adalaj Stepwell

Ambrai Restaurant

ยังไม่มูฟออนจากร้านเดิม ด้วยความที่ร้านอยู่ใกล้กับที่พักเรามาก และติดใจในวิวเวิ้งน้ำนี้สุด ๆ เช้านี้เราเลยขอมาฝากท้องอีกครั้งที่ ‘Ambrai Restaurant’ เป็นมื้อเช้าปัง ๆ เห็นไอหมอกลอยเหนือผิวน้ำก่อนโบกมือลา Udaipur รูปแบบอาหารเป็นบุฟเฟต์ของโรงแรม แม้ไม่ได้มาพักที่นี่ก็สามารถจ่ายเงินแล้วเข้ามากินได้ ไลน์อาหารหลากหลายพอสมควรเลยล่ะ มีทั้ง Breakfast สไตล์อเมริกัน ตะวันตก วีแกน แกงอินเดีย เบเกอรี และผลไม้ฉ่ำ ๆ ให้เลือกฟิน

Rani Ki Vav

ยิงยาวกลับมาเที่ยวต่อยังเมืองมรดกโลกแห่งแรกของอินเดียกับ ‘Rani Ki Vav’ เดินเข้ามาก้าวแรกยังไม่เท่าไหร่ ก้าวสองเริ่มมีเสียงกรี๊ดในลำคอ ส่วนก้าวสามถึงกับต้องหยุดตะลึงในความสวยที่ขอให้คะแนน 10 10 10 กับบ่อน้ำที่สร้างด้วยสถาปัตยกรรมสไตล์ Maru-Gurjara ทรงโค้งมนที่ซับซ้อนฝังอยู่ในชั้นใต้ดินติดกับแม่น้ำ Saraswati สร้างไว้ตั้งแต่ศตวรรษที่ 11 โดย Rani Udaymati เพื่อเป็นอนุสรณ์แด่ King Bhima 1 ผู้เป็นสามี ใช้ในการกักเก็บน้ำในหน้าฝนเพื่อใช้ในหน้าแล้ง

ทางเรามั่นใจว่าหากใครได้มาเห็นจะต้องตกใจกับความยิ่งใหญ่ กับความยาวบ่อที่มากถึง 65 เมตร กว้าง 20 เมตร และลึก 28 เมตร รูปทรงคล้ายวิหารคว่ำ แบ่งเป็นบันได 7 ชั้น มีงานประติมากรรมศิลปะชั้นสูงมากกว่า 1,500 ชิ้นว่าด้วยเรื่องของศาสนา ตำนาน และภาพสลักของฆราวาส ที่อ้างอิงจากวรรณกรรม ดีเทลแสนเลิศแสนปังขนาดนี้ คือไม่แปลกใจเลยที่ได้ขึ้นทะเบียนเป็นมรดกโลก และถูกนำภาพไปพิมพ์ลงบนแบงค์ 100 รูปี

เราเดินดูไปก็อึ้งไป งงว่าตัวเองไปอยู่ไหนมา ทำไมเพิ่งรู้ว่ามีเมืองนี้อยู่ในแผนที่อินเดีย ที่เที่ยวคือคนไม่เยอะเลย แทบไม่เห็นฝรั่งหรือคนจีนมาเที่ยว เรียกว่าสดใหม่สุดในสากลโลก ส่วนใหญ่ที่เห็นจะเป็นชาวอินเดียที่มายลความยิ่งใหญ่ของบ้านตัวเอง ลองเดินพินิจงานสลักของแต่ละชั้นเรียกว่าความนูนต่ำเท่ากันเป๊ะ ลงดีเทลทั้งลายผ้า เครื่องประดับ หน้าคนได้ละเอียดให้เราจินตนาการเรื่องราวได้อย่างชัดเจน รับรองว่ามาเดินถ่ายรูปแล้วได้มุมไม่ซ้ำใครแน่นอน ขนาดเราจะหา ref มาถ่ายยังหาไม่เจอ!! 

Modhera Sun Temple

นั่งรถห่างออกมาไม่ถึง 30 นาที เราก็ได้พบกับอีกหนึ่งความสวยงามชวนทึ่ง ‘Modhera Sun Temple’ ศาสนสถานฮินดูอันเก่าแก่แห่งรัฐ Gujarat สร้างเพื่ออุทิศแก่สุริยเทพ มีอายุเกือบพันปี ตั้งแต่สมัย Bhima I แห่งราชวงศ์ Chaulukya ภายในแบ่งออกเป็น 3 ส่วนคือ Gudha Mandapa สถานที่ทำพิธีกรรมบูชาเทพเจ้า, Sabha Mandapa หอประชุมแบบอินเดีย และ Kunda อ่างเก็บน้ำขั้นบันไดโดยส่วนต่าง ๆ นั้นจะมีงานแกะสลักอย่างประณีต ละเอียดตาแตกไม่ว่าจะเป็นบนเสาตั้งแต่โคนจรดปลาย และบนกำแพง

ไฮไลต์ที่กระชากสายตาเรามากที่สุดคือบริเวณบ่อเก็บน้ำ รูปแบบชลประทานยอดฮิตในอนุทวีปอินเดียที่สืบทอดมานานกว่า 3,000 ปี จะมีบันไดลงสู่ชั้นล่างของบ่อเพื่อให้ชาวบ้านได้ลงไปตักน้ำมาใช้ได้อย่างสะดวกสบาย บ่อแห่งนี้มีชื่อเรียกว่า ‘Suryakunda’โดดเด่นด้วยบันไดทรงพีระมิดขนาดเล็ก เป็นเลเยอร์สลับกันไป พร้อมศาลเจ้าประดับรูปปั้นองค์เทพมากถึง 108 พระองค์กระจายอยู่ มีครบไม่ว่าจะเป็นพระศิวะ พระวิษณุ พระพิฆเนศ ฯลฯ เห็นถึงแรงศรัทธาและความละเมียดละไมในการก่อสร้าง ถือว่าสมฐานะเมืองมรดกโลกสุด ๆ

Adalaj Stepwell

ยิงยาวกลับเข้าในเมืองมาปิดท้ายโลเคชั่นวันแรกแบบขนลุกกันที่ ‘Adalaj Stepwell’ ตัวมัมแห่ง Stepwell ที่โด่งดังสุดในหมู่ Stepwell ด้วยกัน สร้างด้วยสถาปัตยกรรมผสมระหว่างอินเดียและอิสลามมานานกว่า 525 ปี ในสมัย Queen Rudadevi ภรรยาของ Veer Singh หัวหน้าราชวงศ์ Vaghela ตามสลักจารึกภาษาสันกฤตที่เขียนไว้ด้านล่างของบ่อนั่นเอง ที่นี่คือบ่อน้ำทรงแปดเหลี่ยมสูงห้าชั้น บนผนัง และเสาทุกต้นล้วนถูกแกะสลักอย่างปราณีตดังเช่นโบราณสถานสำคัญอื่น ๆ ในเมือง ทำให้เราสัมผัสได้ว่าชวนอินเดียมีใจฝักใฝ่ในศาสนาเป็นอย่างมาก ทุกแห่งที่เค้าสร้างล้วนมีความเชื่อมโยงกับเทพเจ้าอยู่เสมอ

เพิ่มเติมข้อมูลให้ดูมีความรู้กันสักนิดกับ Stepwell ที่ถูกพูดถึงอย่างหลากหลายนี้ แท้จริงแล้วมันก็หมายถึงบ่อน้ำทั่ว ๆ ไปนี่แหล่ะ เพียงแต่เจาะจงลงไปว่าเป็นบ่อน้ำที่มีทางเดินลงเป็นขั้น ๆ สามารถเดินลงไปเพื่อตักน้ำในบ่อได้ตลอดไม่ว่าระดับน้ำจะอยู่ติดก้น หรือสูงท่วมปากบ่อ ซึ่งนิยมอย่างมากในสมัยอดีต และอย่างที่บอกอรรถประโยชน์ที่มากด้วยสไตล์นี้ยิ่งทำให้เราว๊าวในทุก ๆ ก้าว ยิ่งก้าวลงบรรไดเข้าไปสำรวจ ยิ่งลึกก็ยิ่งรู้สึกทึ่ง ยิ่งเดินไปจนสุดแล้วมองแหงนขึ้นมาก็จะเห็นเป็นชั้นๆ แต่ละชั้นที่เราก้าวผ่านลงมา เป็นมุมแปลกตาที่หาชมได้แค่ที่อินเดีย ลองคิดถึงจังหวะที่แสงลอดผ่านลงมาเผยให้เห็นแสงเงาของรูปสลัก นี่ถึงกับคิดว่า เอ้อบ่อน้ำจำเป็นต้องสวยขนาดนี้ไหม แม่คุ๊ณ ที่นี่ทำให้การปิดท้ายวันแรกฉ่ำมาก คือเข้าห้องนี่แทบเปิดมหากาลีดูเลยอ่ะ

Day 5 : Dada Harir Vav – Heritage Walk Ahmedabad – Agashiye – The Project Cafe

Dada Harir Vav

เช้าวันสุดท้ายเราก็ยังคงอยู่กันที่ Stepwell ที่อยู่ไม่ไกลจากเมืองอาห์เมดาบัด ‘Dada Harir Vav’ ศูนย์กลางทางวัฒนธรรมที่เราจะได้เห็นทั้งมัสยิด หลุมฝังศพ และบ่อน้ำที่สร้างมานานกว่า 520 ปี โดย Dada Harira สตรีสูงศักดิ์ที่จัดหาเงินทุนมาก่อสร้าง มีจารึกที่พูดถึงเธอว่าเป็นหัวหน้าผู้ดูแลฮาเล็มและแม่บ้านของ Mahmud Begara โดยมีหลุมฝังศพของเธออยู่ภายในมัสยิด Sultani แห่งนี้นั่นเอง ส่วนบ่อน้ำจะเป็นบ่อหินทรายรูปทรงแปดเหลี่ยม ลึกถึง 5 ชั้น แต่ละชั้นมีพื้นที่โล่งกว้างรองรับผู้คนได้พอสมควรเลยล่ะ

ภายในนี้มีบันไดทอดยาวตั้งแต่ชั้นบนสู่ชั้นล่างเพื่อให้ผู้คนสามารถเข้าถึงน้ำได้จนถึงชั้นใต้ดิน เป็นระบบกักเก็บน้ำที่ตอบโจทย์ทุกฤดู มีช่องระบายอากาศขนาดใหญ่ทำให้ภายในไร้กลิ่นอับ เป็นระบบชลประทานโบราณที่เห็นกี่ทีก็อึ้งทึ่งในภูมิปัญญาสุด ๆ และถ้าใครชื่นชอบและอยากศึกษาเรื่อง Stepwell เพิ่มลองกดหาโลเคชันใน Gujarat ดู เพราะเขามีมากถึง 120 แห่งเลยทีเดียว

Heritage Walk Ahmedabad

แม้อับดุลไม่บอกเราก็รู้ได้เลยทันทีว่าเมือง Ahmedabad ต้องเคยจัดจ้านสุดในย่านนี้อย่างแน่นอน ประหนึ่งเมืองโบราณที่มีอดีตอันโชติช่วง ความรุ่งเรืองที่สืบทอดมาอย่างยาวนาน ฉะนั้นจึงไม่พลาดที่จะลองสัมผัสเส้นทางท่องเที่ยวยอดนิยม ‘Heritage Walk Ahmedabad’ เส้นทางมรดกทางวัฒนธรรม ที่จะพาเราลัดเลาะเยี่ยมชมมัสยิด บ้านเรือน บรรดาโบราณสถานที่อยู่ท่ามกลางเมืองใหม่ได้อย่างแนบเนียน หากใครอยากรู้ข้อมูลเบื้องลึกแนะนำให้ซื้อทัวร์มีไกด์นำเที่ยวจะเวิร์กสุด มีให้เลือกทั้งรูทเช้า-ค่ำ จำนวน 20 / 16 / 10 จุดเช็กอิน ใช้เวลาราว ๆ 2.30 ชม. แต่หากเน้นดื่มด่ำบรรยากาศ ถ่ายรูปไปเรื่อยเปื่อยก็แค่ลิสต์สถานที่แล้วเดินเที่ยวเองแบบเราได้เลย

 Swaminarayan Mandir

จุดสำรวจแรกที่เราเลือกบนเส้นทางแสนคลาสสิกนี้คือ ‘Swaminarayan Mandir’ วัดฮินดูแห่งแรกของเมือง ทำหน้าที่เผยแพร่และศึกษาปรัญชาคำสอน สร้างโดย Swaminarayan Bhagwan ที่เริ่มเผยแพร่ศาสนาฮินดูเมื่อปลายศตวรรษที่ 18 โดยวัดแห่งนี้สร้างมานานกว่า 200 ปี ภายในแบ่งออกเป็น 2 ฝั่งคือบัลลังก์ของพระวิษณุ และบัลลังก์ของพระแม่ลักษมี สร้างด้วยไม้สักจากพม่ามีการแกะสลักที่อ่อนช้อยสมบูรณ์ มุมไฮไลต์อยู่ตรงทางเดินที่มีเสาโค้งสีเหลืองแต่งแต้มลวดลายด้วยสีแดง ฟ้า เขียวสดใส คอนทราสต์กับความสุขุมนุ่มลึกของภายนอกที่คุมโทนด้วยสีน้ำตาล บอกเลยว่าถ่ายรูปสนุกสุด ๆ 

Jama Masjid 

พิกัดที่ต้องร้อง Oh! My God ขึ้นมาแบบอัตโนมัติ ‘Jama Masjid’ มัสยิดที่อลังการมากที่สุด เก่าแก่ที่สุดและสำคัญที่สุดอีกแห่งของอินเดีย สร้างโดย Mahatma Gandhi เมื่อ 600 ปีก่อน ด้วยสถาปัตยกรรมแบบ Indo-Saracenic ผสมผสานศิลปะระหว่างอิสลาม ฮินดูและเชน (ศาสนาเก่าแก่ของอินเดีย) เชื่อว่าโครงสร้างรากฐานเดิมของที่นี่ต่อเติมมาจากซากของวัดเชนและฮินดูเก่า จากแผ่นหินสีดำที่ตั้งอยู่ใกล้ซุ้มประตู ภายในมีความโอ่โถงขนาดบรรจุคนได้ถึง 25,000 คนเลยทีเดียว จึงถูกใช้เป็นสถานที่สวดมนต์หลักของชาวมุสลิมด้วยนั่นเอง

Agashiye

มื้ออาหารสุดท้ายในอินเดียทริปนี้เราเลือกเก็บความประทับใจสไตล์มหาราณีที่ ‘Agashiye’ ร้านอาหารสุดหรูบนดาดฟ้าโรงแรมสุดคลาสสิกของเมือง The House of MG Hotel ซึ่งเป็นสถานที่ต้อนรับแขกบ้านแขกเมืองที่ Ahmedabad เขาเชิดหน้าชูตา การตกแต่งร้านนั้นมีกลิ่นอายความแกรมแต่เข้าถึงง่ายด้วยการใช้โต๊ะไม้ เก้าอี้สาน จัดวางห่างกันอย่างเป็นระเบียบ ใช้จาน ชาม แก้วสีทอง คุมสีให้อยู่ในโทนเหลือง เขียว น้ำตาล สดใสจัดจ้านถ่ายรูปสวย จัดเสิร์ฟอาหารสไตล์ Traditional Gujarati มานานกว่า 25 ปี เรียกว่าระยะเวลาสามารถการันตีความอร่อยได้เลย

ขอเมนชันนิดนึงว่าอาหาร Gujarati จะเป็นมังสวิรัต ไม่มีเนื้อสัตว์ผสมแต่รสชาตินั้นทำออกมาได้อร่อยตราตรึงแบบไม่ต้องร้องขออะไรเพิ่ม เริ่มต้นด้วยขั้นตอนการล้างมือที่เขามารินน้ำให้ถึงโต๊ะ จากนั้นก็เริ่มทยอยตักอาหารลงถาดของเราทีละอย่างอย่างประณีตประดุจแขกคนสำคัญ เริ่มต้นจากแป้งนาน, มันฝรั่งอบน้ำผึ้ง, Khichdi, สลัดที่ราดด้วยน้ำคล้ายอาจาด และ Chutney ผลไม้ปั่นผสมเครื่องเทศเป็นเครื่องเคียง รสชาติออกหวาน ๆ เค็ม ๆ เคล้ากลิ่นเครื่องเทศ ไม่ค่อยจัดจ้านเท่าไหร่ถือว่ากินง่าย ประทับใจในอาหารอินเดีย และพี่ ๆ บริกรสุด ๆ 

The Project Cafe

ส่งท้ายทริปกันด้วยการไปนั่งชิลที่ ‘The Project Cafe’ ที่ไม่ได้เป็นเพียงร้านคาเฟ่ธรรมดา ๆ เพราะเป็นเหมือนผืนผ้าใบให้เหล่าศิลปินหลายร้อยคนทั่วโลกมาร่วมแต่งแต้ม สร้างความมีชีวิตให้กับเมืองทั้งเรื่องของอาหาร ศิลปะ และการขายชิ้นงาน เอกลักษณ์ของคาเฟ่คืออาคารสีเหลืองสดใส ที่ภายในเปลี่ยนแปลงไปเรื่อย ๆ ทุกอย่างในคาเฟ่หากเราสนใจก็สามารถเลือกซื้อได้ ไม่เว้นแม่แต่ช้อน ส้อม ผ้าปูโต๊ะ ให้เห็นว่างานศิลปะแต่ละอย่างสามารถอยู่ในชีวิตประจำวันของเราได้จริง ๆ ฉะนั้นจะกลับมากี่ครั้งก็พบเจอมุมที่แตกต่างออกไปไม่มีเบื่อแน่นอน 

และไม่ใช่แค่ผลิตภัณฑ์งานอาร์ตที่โดดเด่นเท่านั้น เรื่องการครีเอตเมนูเขาก็ไม่เป็นสองรองใคร มีความหลากหลายสไตล์ฟิวชัน ช่วยให้อาหารอิน เดียกินง่ายขึ้นเยอะ เราลองสั่งเป็นเมนูของหวานอย่าง French Toast  ขนมปังอุ่น ๆ ชุบไข่ที่มีความหอมนุ่มชุ่มเนย กินกับผลไม้ วิปครีม น้ำผึ้งได้เข้าสุด ๆ และเบอร์รีชีสเค้กที่ทำออกมาได้หนึบหนับหวานน้อย กินตัดกับกาแฟดำร้อน ๆ แล้วเติมเอเนอร์จีระหว่างวันได้ดีสุด ๆ 

ถือเป็นการเที่ยวอินเดียมุมใหม่ที่ไม่เหมือนใคร และเชื่อว่ามีน้อยคนมากที่ได้สัมผัสประสบการณ์แบบนี้ ทั้งการเดินทางข้ามกาลเวลาผ่านประวัติศาสตร์แสนเลอค่าในเมืองสีขาวริมทะเลสาบสุดโรแมนติก มองเห็นความรุ่งเรือง ความเล่นใหญ่เล่นโตที่คุ้มค่าแก่การเยี่ยมเยือน ภูมิปัญญาโบราณที่ควรค่าแก่การชื่นชม ตบท้ายด้วยเมืองมรดกโลก อัดแน่นไปด้วยความชิคและความคลาสสิกที่ผสานกันอย่างแยบยล เป็นทริปปรับทัศนคติที่เรามีต่ออินเดียให้ดีขึ้นอย่างก้าวกระโดดเลยจริง ๆ ถ้าไม่เชื่อ!!!! ก็ลองตามไปเที่ยวกันดู