Road Trip Stories Uzbekistan

“อุซเบกิสถาน” ที่แค่ฟังชื่อหลายคนยังทำหน้างง แล้วถ้าบอกจะพาไปเที่ยวหลายคนคงถึงขั้นเลิกคิ้วมองกลับด้วยสายตาแบบ…ห้ะ อะไรนะ… ซึ่งตอนแรกที่มีคนชวนเราก็เป็นแบบนี้ล่ะ ได้แต่ทำตาปริบๆ เพราะยังนึกไม่ออกเลยว่าประเทศนี้จะหน้าตาประมาณไหน มีไรให้เที่ยวบ้าง อันตรายหรือเปล่า กินอะไรได้ไหม และแม้แต่อยู่ตรงไหนของโลก เราก็ยังไม่รู้ (แบบเรานึกอะไรไม่ออกจริงๆ) แต่หลังจากได้ลองไปสัมผัสด้วยตัวเองก็บอกได้เลยว่ามันเป็นประเทศที่ทำให้เราตื่นเต้นได้กับทุกสิ่งทุกอย่าง เพราะนี่คือหนึ่งในประเทศบนเส้นทางสายไหมเส้นทางการค้าสายประวัติศาสตร์ ทำให้ที่นี่มีเรื่องราวอันยาวนานและมีความเจริญรุ่งเรืองทางด้านวัฒนธรรมแบบผสมผสานที่น่าสนใจ โดยเฉพาะพวกสถานที่ท่องเที่ยวที่มีสถาปัตยกรรมที่ทำมาจากเซรามิกสีฟ้าชิ้นเล็กๆ สุดแสนปราณีต ผู้คนที่แสนจะเป็นมิตร และอาหารที่เค้าเคลมว่าอร่อยที่สุดในตะวันออกกลาง รวมถึงความดีงามอีกมากมายตลอดเจ็ดวันเต็มที่เราผ่านมา เอาเป็นว่าเราอยากให้ทุกคนได้ลองเปิดใจเปิดมุมมองลองสัมผัสประเทศนี้ผ่านบันทึกเรื่องราวการเดินทางที่สดใสของเราดู …

อุซเบกิสถาน คือ ประเทศใหม่ในกลุ่มเอเชียกลางที่เกิดขึ้นจากการแยกตัวออกจากสหภาพโซเวียต และยังเป็นหนึ่งในสองประเทศของโลกที่ถูกปิดล้อมด้วยแผ่นดินแบบไม่มีทางออกสู่ทะเล แต่กลับเป็นประเทศที่มีความร่ำรวยทางวัฒนธรรมขั้นสูงมาตั้งแต่อดีต นั่นก็เพราะว่านี่คือหนึ่งในเส้นทางสายไหมเส้นทางการค้าสำคัญที่เชื่อมระหว่างประเทศตะวันออกและประเทศตะวันตก ซึ่งนอกจากจะแลกเปลี่ยนสินค้ากันแล้วยังทำให้เกิดการแลกเปลี่ยนและหลอมรวมวัฒนธรรม ดังนั้นเราจึงสามารถเห็นสถาปัตยกรรมและวัฒนธรรมที่สวยงามแปลกตาได้จากประเทศนี้

ก่อนเริ่มเดินทางเราขอแนะนำให้แกหาวันลายาวๆ ให้ได้สักห้าถึงเจ็ดวันแล้วก็เว้นเวลาไว้อย่างน้อยสามสัปดาห์ก่อนการเดินทาง เพื่อยื่นขอวีซ่าเข้าประเทศอุซเบกิสถาน ซึ่งก็ทำได้ไม่ยากแค่นำใบคำร้อง รูปถ่ายขนาด 2 นิ้ว พร้อมพาสปอร์ต (โดยดาวน์โหลดแบบฟอร์มได้จากเว็บไซต์(evisa.mfa.uz/evisa_en/)) ไปยื่นที่สถานกงสุลใหญ่สาธารณรัฐอุซเบกิสถานประจำประเทศไทย ที่ตั้งอยู่ในแขวงลุมพินีเขตปทุมวัน สามารถนั่งรถไฟฟ้าไปลงที่สถานีรถไฟฟ้าเพลินจิตและต่อรถไปยังซอยวิทยุ 1 เป็นอันจบปิ้งในขั้นตอนของการขอวีซ่า ออ!! อุซเบกิสถานสามารถเที่ยวได้ตลอดทั้งปีแต่ช่วงเวลาที่ดีที่สุดคือช่วงฤดูใบไม้ผลิ (เมษายน-พฤษภาคม) และช่วงฤดูใบไม้ร่วง (ตุลาคม-พฤศจิกายน) เพราะเป็นช่วงที่อากาศกำลังเย็นสบายเหงื่อไม่ไหลไคลไม่ย้อยจ้าาา

สำหรับทริปของเราในครั้งนี้พวกเราเลือกเดินทางแบบ Road Trip ข้ามทะเลทรายอันร้อนระอุยามกลางวัน และหนาวเหน็บในยามกลาวคืน (แต่จริงๆ คือเราแค่ขับผ่านเพื่อเข้าเมืองไม่ได้สัมผัสความหนาวนงหนาวเหน็บอะไรหรอก) เพื่อสำรวจเมืองต่างๆ ตั้งแต่ฝั่งตะวันออกไปจนถึงฝั่งตะวันตกของประเทศอุซเบกิสถาน โดยเราจะเริ่มต้นจากเมืองหลวง Tashkent – Samarkand – Bukhara และจบที่ Khiva แม้ว่าความฝันของเราคือการไปโร้ดทริปในแถบอเมริกากับแถบสแกนดิเนเวียแต่การได้มาโร้ดทริปที่นี่โดยไม่คาดหมายก็ทำให้เราได้ประสบการณ์ที่เกินคาดด้วยเหมือนกันไม่ว่าจะเป็นเรื่องราวระหว่างทางกับเพื่อนฝูงขาเที่ยว เรื่องราว ณ จุดหมายปลายทางที่ชวนอึ้ง และเรื่องราวหลังจุดหมายปลายทางพี่เราอยากบอกต่อกับพวกแก เพราะฉะนั้นลองเปิดใจให้กับประเทศนี้ดูสักครั้งนะแล้วแกจะรู้ว่าทำไมเราถึงอยากเอามาเล่าให้แก่ฟังนักหนา

Day 1 : Flight to Uzbekistan

เช้าตรู่ของวันแรกเราออกเดินทางจากสนามบินสุวรรณภูมิด้วยสายการบิน Uzbekistan Airways เพราะนางเป็นสายการบินเดียวที่บินตรงจากกรุงเทพสู่ ทาชเคนต์ เมืองหลวงของประเทศอุซเบกิสถาน โดยนางจะบินเพียงสัปดาห์ละสองเที่ยวบินคือในวันเสาร์รอบค่ำและในวันอังคารรอบเช้าเท่านั้น ใช้เวลาบินประมาณ 6 ชั่วโมง เราเลยขอเลือกบินไฟลท์เช้า เพื่อที่เวลาเราไปที่ใหม่ๆ เราจะได้สำรวจภูมิประเทศของภูมิภาคนั้นๆ ได้จากบนเครื่องบินยิ่งตอนที่เครื่องใกล้จะแลนดิ้งยิ่งทำให้เราได้เห็นทิวทัศน์ที่แปลกตาได้เสมอ

ยังไม่ทันได้ทำอะไรวันแรกของเราก็หมดไปกับการเดินทางเราจึงทำได้แค่ลากกระเป๋าเข้าที่พักแล้วออกมาสัมผัสอุซเบกิสถานกันที่ร้านอาหารท้องถิ่น  Salsal ร้านที่มาในรูปแบบไฟน์ไดนิ่ง และแม้จะบอกว่าเป็นร้านอาหารท้องถิ่น แต่มันกลับตกแต่งอย่างวิจิตรบรรจงตั้งแต่พื้นจรดเพดาน ทั้งถ้วยจาน ชาม และแก้ว ก็แสนจะหรูหรา จนเราต้องหันไปถามย้ำกับเพื่อนว่านี่ร้านท้องถิ่นแล้วแน่นะ

จากการเดินทางที่เหน็ดเหนื่อยค่ำนี้เราจึงสั่งสารพัดเมนูแนะนำไม่ว่าจะเป็น เคบับ แต่ความเคบับที่นี่จะงงๆ ผิดกับรูปแบบที่เคยเห็นมาทั้งชีวิตที่ต้องห่อดวยแป้ง ไม่จ้าที่นี่นางเสียบไม้ย่างแล้วยกมาเสิร์ฟแบบเนื้อเน้นๆ แต่ทีต้องเด็ดห้ามพลาดเลยคือ มัสตาว่า Mastava ข้าวต้มร้อนๆ หอมกลิ่นเครื่องเทศ อันแน่นด้วยเครื่องทั้งเนื้อ มันฝรั่ง และมะเขือเทศที่หั่นเป็นชิ้นเล็กๆ มัสตาว่ามักจะเสิร์ฟมาพร้อมกับโยเกิร์ตรสธรรมชาติถ้วยเล็กๆ วิธีการกินคือเทโยเกิร์ตผสมลงไปในถ้วยข้าวต้ม จะได้รสชาติเปรี้ยวเพิ่มมานิดหน่อย ส่วนเมนูอื่นๆ ก็จำได้บ้างไม่ได้บ้างแต่รสชาติสมมงคำกล่าวที่ว่าอาหารอุซเบแซ่บสุดในแถบตะวันออกกลาง ผิดคาดที่ตั้งแง่ว่าจะทานอาหารประเทศนี้ไม่ได้ … หิ้วทองแบบอิ่มจุกๆ กลับไปพัก

Day 2 : One day in Tashkent

วันนี้ขอเริ่มต้นกันเบาๆ ให้ทั่วให้เมืองหลวงทาชเคนต์ โดยสถานที่แรกที่เราจะไปในวันนี้ก็คือ Palace of Prince Romanov พระราชวังของเจ้าชายโรมานอฟผู้ชื่นชอบในการล่าสัตว์และความทันสมัย พระราชวังกลางเมืองที่ถูกสร้างขึ้นในปี 1891 แห่งนี้จึงได้ชื่อว่าเป็นพระราชวังที่ทันสมัยและเข้ากับกระแสนิยในสมัยนั้นเป็นอย่างมาก ตัวตึกสีครีมอ่อนที่หรูหรานั้นประกอบด้วยหน้าจั่วและโดมรูปทรงแปลกตา ด้านหน้าตกแต่งด้วยรูปปั้นกวางทองแดงและสุนัขล่าสัตว์ ด้านหลังเป็นสวนขนาดใหญ่ที่มีพืชพรรณต่างๆ มากมาย ส่วนด้านในของพระราชถูกแบ่งออกเป็นที่อยู่ของเจ้าชายและภรรยา ห้องสมุด ห้องอาหาร รวมถึงห้องสำคัญอื่นๆ อีกมากมาย

ไม่ไกลจากพระราชวังนักเราก็เดินมาหยุดกันที่ Independence square อีกหนึ่งสถานที่สำคัญที่ตั้งอยู่ใจกลางเมืองหลวงที่มีประวัติศาสตร์ยาวนาน ที่นี่จึงคึกคักไปด้วยชาวเมืองที่มาพักผ่อนหย่อนใจ ในแรกเริ่มของการสร้างที่มีชื่อว่า White House พอในช่วงที่อยู่ในความควบคุมของสหภาพโซเวียตที่นี่ก็ถูกเปลี่ยนชื่อใหม่เป็น Lenin square และถูกเปลี่ยนชื่ออีกครั้งในปี 1991 ภายหลังจากการที่อุซเบกิสถานได้ออกจากสหภาพโซเวียตเป็น Independence Square บนพื้นที่ 12 เฮกเตอร์นี้ มักมีการจัดงานสำคัญๆ ในช่วงเทศกาลต่างๆ ไม่ว่าจะเป็นวันอิสระภาพของอุซเบกิสถานหรือในวันปีใหม่ ซึ่งจะมีทั้งการแสดงดนตรีและโชว์ต่างๆ มากมาย ส่วนสัญลักษณ์ที่โดดเด่นเด่งมาแต่ไกล ณ จตุรัสแห่งนี้คือเสาหินอ่อนที่เชื่อมต่อกันด้วยสะพานสีเงิน และมีรูปปั้นนกกระทุงสามตัวบินรอบโลกเพื่อสื่อถึงความโชคดี ถัดเข้าไปด้านในก็จะเจอกับรูปปั้นทองแดงสูง 6 เมตรของ Happy Mother Monument ผู้หญิงที่กำลังอุ้มทารกอยู่เบื้องหน้าเสาอิฐที่มีลูกโลกอยู่ด้านบน อันเป็นสัญลักษณ์แทนความหมายของการเป็นถิ่นกำเนิด

ถัดจากอนุสาวรีย์แม่ผู้มีความสุขไปไม่ไกลนักเราก็จะได้เห็นรูปปั้นของมารดาผู้นั่งกอดเขาก้มหน้าลงสู่พื้นดินที่มีชื่อว่า Sad Mother สัญลักษณ์แห่งความโศกเศร้าในช่วงสงครามโลกครั้งที่สองที่ถูกสร้างขึ้นในปี 1999 เพื่อเป็นเกียรติแด่ทหารชาวอุซเบกิสถานกว่า 400,000 คน ผู้เสียสละชีพตนเพื่อปกป้องครอบครัวและประเทศของเขา โดยด้านหน้าของรูปปั้นจะมีคบเพลิงเล็กๆ อยู่บริเวณพื้นดินเป็นคบเพลิงที่มีคนกล่าวว่ามันไม่เคยดับลงเลย เรารู้สึกว่านี่เป็นเสมือนหนึ่งสัญลักษณ์ว่าพวกเขาจะไม่ลืมว่าสงครามนั้นโหดร้ายเพียงใดและพวกเขาจะไม่ลืมว่าผู้เสียสละนั้นยิ่งใหญ่เพียงไหน

ออกจากจตุรัสที่มีเรื่องราว 108 รสชาติเราก็มายืนอยู่หน้า Kukeldash Madrasah โรงเรียนสอนศาสนาเมดรัซซ่าในเขตเมืองเก่าที่ถูกสร้างขึ้นในปี 1570 และได้ถูกทำให้เป็นพิพิธภัณฑ์เมื่อครั้งอยู่ในสหภาพโซเวียต ก่อนจะถูกปรับปรุงให้กลับมาเป็นโรงเรียนสอนศาสนารวมถึงวิชาอื่นๆ อีกครั้ง นอกจากนี้ในทุกวันศุกร์ที่นี่ยังเป็นสถานที่สวดภาวนาอีกด้วย ซึ่งจากที่เห็นในรูปเราว่าก็ดูใหญ่อยู่พอสมควรแล้วแต่เมื่อเทียบสเกลจริงๆ ต้องบอกว่านี่คือสถาปัตยกรรมที่ใหญ่โตมโหฬารชวนอึ้ง และยังเป็นสถาปัตยกรรมที่มีความละเอียดอ่อนเพราะกำแพงที่เราเห็นนั้นคือการนำอิฐเล็กๆ เรียงต่อกันขึ้นไปแล้วตกแต่งด้วยโมเสกสีฟ้าชิ้นเล็กๆ อีกนับหมื่นนับพันชิ้น

หลังโรงเรียนสอนศาสนาเมื่อเราเดินสำรวจก็พบกับโดมสีฟ้าที่สูงใหญ่และแปลกตาแต่ก็ชวนแปลกใจยิ่งกว่าเมื่อเราพบว่าที่มีคือตลาดกลางเมือง Chorsu Bazaar ตลาดที่สูงถึงสามชั้น และสะอาดมากๆ จนดูเผินๆ นึกว่าเป็นตลาดขายสินค้าอิเล็กทรอนิกส์ แต่ความเป็นจริงภายในโดมนั้นประกอบด้วยร้านขายผลไม้สด ผลไม้แห้ง ของสดจำพวกเนื้อสัตว์ต่างๆ เครื่องเทศ ขนมปัง และถั่วอีกมากมายหลายสิบชนิด ซึ่งราคาถูกและดูน่าอร่อยเกินกว่าที่เราจะปล่อยให้ผ่านไปโดยไม่มีอะไรติดไม้ติดมือกลับมาอย่างแน่นวลจ้าาา

ออกจากตลาดเราก็มาสู่อีกหนึ่งแลนด์มาร์คของเมืองทาชเคนต์ที่อยู่ไม่ไกลจากสถานีรถไฟ Assumption Cathedral คือ วิหารอสัมชันของพระแม่มารี โบสถ์ของนิกายออร์ธอดอกซ์แห่งแรกในเอเชียกลางที่ถูกสร้างขึ้นในปี 1871 ที่ผ่านเรื่องราวมาอย่างนับไม่ถ้วนทั้งการถูกปิดภายใต้ช่วงเวลาแห่งสงคราม, การเปลี่ยนชื่อในปี 1945 และการบูรณะ ในช่วงปี 1958 ถึง 1960 ถึงแม้จะผ่านร้อนผ่านหนาวชนิดที่แค่ฟังก็ยังปวดหัวแทน แต่หลังจากที่ได้กลับมาสู่สภาพเดิมและได้รับการทะนุบำรุงเป็นอย่างดีทั้งภายในและภายนอกนั้นก็ยังคงงดงามและบอกเราเรื่องราวได้อย่างชัดเจนจนเราไม่สามารถละสายตาออกจากภาพวาดบนผนังและเพดานภายในโบสถ์ได้เลยแม้แต่นาทีเดียว ราวกับถูกตรึงไว้ให้ต้องมนต์ของความสวยงามเหล่านั้นก็ไม่ปาน

ณ จุงกึ่งกลางของจัตุรัสกลางเมือง Amir Timur Square เราจะเห็นอนุเสาวรีย์อันโดดเด่นของผู้นำกองทัพและรัฐบุรุษในช่วงยุคศตวรรษที่ 14 Amir Timur ผู้พิชิต 27 ดินแดน ไล่ตั้งแต่แถบเมดิเตอร์เรเนียนจนถึงอินเดีย ที่ทำจากทองแดงในท่าทางน่าเกรงขามบนหลังอาชาสุดแกร่ง โดยด้านล่างยังมีคติของรัฐบุรุษแห่งนี้ที่ได้รับการแปลเป็นสี่ภาษาว่า Power is justice รอบๆ ข้างของอนุสาวรีย์ยังมีสวนหย่อมขนาดเล็กที่มีทั้งน้ำพุและต้นไม้อีกหลายชนิดที่นักท่องเที่ยวอย่างเราและชาวเมืองสามารถเข้ามาพักผ่อนหย่อนใจได้ตามอัธยาศัย ซึ่งเราก็ชอบอีกแล้วเพราะมันดูชิวและดูสงบมากจริงๆ เหมาะแก่การมานั่งอ่านหนังสือนั่งมองคนเดินผ่านไปมาหรืออัพ Status คำคมเกร๋ๆ ซะจริงๆ

ราวกับคนที่นี่ไม่อยากให้เรื่องราวใดๆ เลือนหายไปเลยเพราะไม่ไกลกันนักเราก็ยังได้พบ Monument of Courage Earthquake อนุสาวรีย์ขนาดยักษ์ของคนที่กำลังทำท่าทางแปลกแปลกกับปีระมิดเล็กๆ ที่อยู่บนพื้นที่ถูกสร้างขึ้นในปี 1976 ซึ่งเมื่อเราลองอ่านชื่อแล้วถึงได้ร้องอ๋อว่ามันคืออนุเสาวรีย์เพื่อระลึกถึง 10 ปีเหตุการณ์แผ่นดินไหวที่ใหญ่ที่สุดในประวัติศาสตร์ของอุซเบกิสถานที่ได้ทำลายเมืองไปกว่าครึ่งหนึ่งหรือกว่า 10 Squareกิโลเมตร ทำให้การสูญเสียนั้นมิอาจประเมินค่าได้และกว่า 500,000 คน ต้องกายเป็นคนไร้บ้าน แต่พวกเขาก็ร่วมมือร่วมใจกันเพื่อสร้างให้เมืองกลับมาอุดมสมบูรณ์อีกครั้งหนึ่ง

ในย่านเมืองเก่ากลางเมืองหลวงอย่างทาชเคนต์ เราจะได้เห็นสถานที่สำคัญอีกแห่งหนึ่งที่เรียกได้ว่าใหญ่โตมโหฬาร Hast Imam Square แห่งนี้คือศูนย์กลางของศาสนาที่เคยได้รับผลกระทบจากแผ่นดินไหวในปี 1966 แผ่นดินไหวครั้งประวัติศาสตร์ด้วยเช่นกัน ซึ่งใกล้ๆ กันนั้นยังเป็นสถานที่ฝังศพของโต๊ะอิหม่ามคนแรกของเมืองทาชเคนต์ด้วย และภายในบริเวณนี้ก็ประกอบด้วยอนุสาวรีย์ที่สำคัญอีกมากมาย และยังเป็นสถานที่ตั้งของโรงเรียนสอนศาสนามุสลิมแห่งเอเชียกลาง มัสยิดสีครีมที่ถูกตกแต่งด้วยโมเสกสีฟ้าและมีโดมสีฟ้าเป็นหอคอยคู่ที่เราเห็นนี้เป็นอาคารที่สร้างขึ้นในปี 2007 ด้วยสถาปัตยกรรมเอเชียกลางแบบดั้งเดิม

ตั้งแต่เรามาที่นี่เราก็ใช้คำว่ามโหฬารเปลืองอย่างมากมายเพราะทุกอย่างถูกสร้างอย่างปราณีตและยิ่งใหญ่อลังการจนเหมือนเราหลุดเข้ามาอยู่ในเมืองยักษ์ก็ไม่ปาน ที่สำคัญทุกอย่างยังอยู่ในสภาพดีมากและสะอาดมากๆ จนเรารู้สึกได้ว่าคนที่นี่ต้องมีระเบียบวินัยและรักบ้านเมืองรักสิ่งสร้างของเขาอย่างที่สุดจริงๆ ทำให้เราได้มีโอกาสมาสัมผัสสิ่งสร้างที่แสนสวยงามและน่าประทับใจนี้ แบบถ้าให้คะแนนก็ต้องมีคะแนนพิศวาส + ลงไปแบบเต็มๆ อย่างแน่นอน

Day 3 : Tashkent — Samarkand

จากเมื่อวานที่เดินเที่ยวเล่นในตัวเมืองหลวงไปหนึ่งวันเต็มๆ เช้าวันใหม่ก็ได้เวลามุ่งหน้าสู่เมืองถัดไปบนเส้นทางโร้ดทริปของเราครั้งนี้นั่นก็คือ ซามาร์คันด์ เมืองใหญ่อันดับสองที่เจริญไม่แพ้เมืองหลวง เพราะเมืองแห่งนี้ก็มีประวัติศาสตร์ที่ยาวนานและมีวัฒนธรรมที่สั่งสมมาอย่างหลากหลายเช่นเดียวกันที่สำคัญในปี 2001 ที่นี่ยังได้รับการขึ้นทะเบียนให้เป็นมรดกโลกโดยองค์การยูเนสโกอีกด้วย หลังจากมุ่งหน้าออกนอกเมืองหลวงได้สักพักท้องถนนที่เรียงรายไปด้วยตึกสูงสวยงามก็เริ่มเปลี่ยนเป็นเส้นทางที่กันดารขึ้นเรื่อยๆ แต่แม้เส้นทางจะไม่ได้ดูสวยงามราบเรียบเราก็รู้สึกได้ว่าจะต้องมีอะไรรอให้เราไปเจออยู่เป็นแน่

หลังจากที่นั่งรถจนหัวสั่นหัวคลอนไปได้ครึ่งทาง พวกเราเลยแวะที่จุดแวะพักข้างทางเพื่อเข้าห้องน้ำ และรองท้องกันด้วยเมนูพื้นบ้านที่หากินได้แทบจะทุกร้านนั่นคือเมนูที่มีชื่อว่า Samsa อารมณ์ประมาณขนมปังอบใส่ใส้เป็นเนื้อสัตว์และผักประเภทต่างๆ โดยแต่ละร้านก็จะทำให้มีรูปร่างแตกต่างกันไปเล็กบ้างใหญ่บ้างตามสไตล์ แต่ส่วนประกอบทั้งภายในและภายนอกนั้นก็เรียกได้ว่าแทบจะเหมือนกันเลย ซึ่งอาหารชนิดนี้ชาวอุซเบกิสถานจะนิยมกินคู่กับน้ำชาตามสไตล์คนอุซเบที่พี่ไม่นิยมดื่มกาแฟ เพราะฉะนั้นเราจึงหากาแฟดื่มได้น้อยมากๆ หากใครที่คิดว่าขาดกาแฟไม่ได้เราแนะนำให้พก 3 in 1 ติดมาเองด้วยจะดีกว่า

เป็นเวลากว่า 4 ชั่วโมง ถนนที่ขรุขระก็เริ่มราบเรียบขึ้นอีกครั้ง เป็นสัญญาณว่าเราเริ่มเข้าสู่เมืองซามาร์คันด์ และทันทีที่นาฬิกาบอกเวลา 13:00 น. พวกเราก็มาถึงยัง Imam Bukhari Memoral Complex สุสานอิหม่ามบุคอรีหนึ่งในอิหม่ามที่มีชื่อเสียงและเป็นคนสำคัญที่สุดในโลกของมุสลิม ท่านเป็นศาสนศาสตร์ชื่อดังและเป็นผู้เขียนหนังสือที่สำคัญที่สุดเป็นอันดับสองของชาวมุสลิมรองจากอัลกุรอานที่ชื่อว่า “Al-Jomiy al-Saheeh” ทำให้ที่นี่กลายเป็นสถานที่สำคัญอีกแห่งหนึ่งของชาวมุสลิมจากทั่วโลก ที่นี่ถูกสร้างขึ้นในปี 1998 ซึ่งเป็นปีเดียวกับที่องค์การยูเนสโกประกาศให้เป็นปีแห่งการเฉลิมฉลอง 1225 ปีของท่านอิหม่าม โดยสถาปัตยกรรมทั้งหมดได้รับอิทธิพลมาจากสภาปัตยกรรมแบบเอเชียกลางโบราณ และภายในก็ยังมีพิพิธภัณฑ์ขนาดเล็กที่เกี่ยวกับเรื่องราวของโลกมุสลิมให้เราได้เข้าไปเรียนรู้อีกด้วย

ด้านหลังประตูโมเสกสีฟ้าที่ละเอียดอ่อนและยิ่งใหญ่แห่งนี้คือ Guri Amir สุสานของรัฐบุรุษของชาวอุซเบกิสถาน “อามีร์ ตีมูร์” ที่เราได้ไปเยี่ยมชมเขาครั้งหนึ่งแล้ว ณ ตัวเมืองหลวง บุคคลผู้อยู่บนหลังม้าอันสง่างามหนึ่งในจักรพรรดิแห่งมองโกล-เติร์ก ที่ประชาชนให้การยกย่องเป็นอย่างมากทำให้เมืองที่มีประวัติศาสตร์อันยาวนานและเก่าแก่ที่สุดแห่งหนึ่งในเอเชียกลางนี้เต็มไปด้วยรูปปั้นและเรื่องราวต่างๆ ของท่านไปทั่วทุกหนทุกแห่ง

หลังจากที่เราพาตัวเองผ่านลานโล่งและเลี้ยวไปยังประตูทางซ้ายมือ เพียงก้าวแรกเราก็ต้องหยุดชะงักทันทีที่เราได้แหงนมองขึ้นด้านบน ห้องโถงขนาดใหญ่ถูกตกแต่งด้วยโมเสกสีทองและสีฟ้าในทุกกระเบียดนิ้วทำให้เมื่อทุกอย่างกระทบกับแสงไฟมันจึงดูเหมือนเราอยู่ภายในวิหารศักดิ์สิทธิ์สีทองที่ใหญ่โตเกินจะบรรยาย ตรงกลางของห้องโถงคือโลงศพจำลองของท่านและโลงศพของลูกชายหลานชายรวมไปถึงโลงศพของอาจารย์ของท่านด้วย ส่วนโลงศพจริงๆ ของพวกเขาทั้งหลายนั้นได้ถูกฝังลึกลงไปอีกกว่า 51 เมตร

ห่างออกไปจากสุสานของอามีร์ ตีมูร์ ประมาณ 5 กิโลเมตร เราก็มาถึงอีกหนึ่งสถานที่ที่จัดได้ว่ามีสถาปัตยกรรมที่โดดเด่นและลึกลับที่สุดแห่งหนึ่งนั่นก็คือ  Shakhi-Zinda necropolis สุสานชาคี-ซินดา สุสานหลวงสีฟ้าที่ถูกสร้างขึ้นตั้งแต่ช่วงศตวรรษที่ 14-15 ซึ่งเป็นสุสานของคนในครอบครัวท่านอามีร์ ตีมูร์ ที่นี่ประกอบไปด้วยอาคารจำนวนทั้งสิ้น 20 อาคาร โดยแต่ละอาคารจะถูกตกแต่งด้วยโมเสกเล็กๆ สีฟ้าอย่างสวยงามยิ่งเมื่อประกอบกับท้องฟ้าสีฟ้าอันสดใสแล้วยิ่งทำให้ที่นี่ให้อารมณ์แตกต่างจากสุสานในความรู้สึกของเราเป็นอย่างมาก และมันก็ยังสวยงามน่าถ่ายรูป มีให้ถ่ายหลายมุมมากจนเราแอบกดชัตเตอร์ไว้รัวๆ เผลอแป๊บเดียวก็เย็นย่ำและหมดวันเสียแล้ว

Day 4 : SamarkandBukhara

เช้าตรู่ของวันถัดมาเราก็ยังอยู่กันที่เมืองซามาร์คันด์ โดยเราจะเริ่มกันที่อีกหนึ่งแลนด์มาร์คสุดมโหฬาร (รอบที่ล้าน จนอยากรู้ว่านอกจากคนแล้วที่นี่มีอะไรเล็กๆ ให้เราดูบ้างมั้ย) ณ Regitan จัตุรัสเรกิสถานที่แปลว่าจตุรัสแห่งทราย เพราะในสมัยโบราณนั้นบริเวณจตุรัสแห่งนี้ได้ถูกทับถมไว้ด้วยเม็ดทราย ซึ่งในยุคแรกแรกที่เมืองนี้ยังไม่ได้มีโรงเรียนสอนศาสนาที่จตุรัสแห่งนี้ก็เป็นที่สำหรับนักปราชญ์ได้มาพบปะกับประชาชนเพื่อประกาศคำสอน และในยุคต่อมาที่เริ่มมีการทำการค้าที่นี่ก็กลายเป็นสถานที่แลกเปลี่ยนสินค้าระหว่างกัน ซึ่งเราจะเห็นได้ว่าสถานที่แห่งนี้ถูกใช้ต่างกรรมต่างวาระกันอย่างมากแต่ท้ายที่สุดแล้วที่นี่ก็กลายมาเป็นศูนย์กลางของเมืองที่ผู้คนได้ออกมาพบปะกันเพื่อทำกิจกรรมต่างๆ

ต่อมาที่นี่ก็ได้มีโรงเรียนสอนศาสนาขึ้นถึงสามโรงเรียนล้อมรอบทั้งสามด้านของจตุรัสแห่งนี้ ทางด้านซ้ายมือที่เราเห็นคือโรงเรียนสอนศาสนาที่เก่าแก่ที่สุดที่ถูกสร้างขึ้นตั้งแต่ศตวรรษที่ 15 มีชื่อว่า Ulugh Beg Madrasah ส่วนโรงเรียนทางขวามือที่ถูกสร้างในเวลาไล่เลี่ยกันนั้นมีชื่อว่า Sher-Dor Madrasah และตรงกลางคือโรงเรียน Tilya-Kori Madrasah ที่ถูกสร้างขึ้นในศตวรรษที่ 17 แต่ในปัจจุบันโรงเรียนที่สวยเกินจะบรรยายทั้งสามโรงก็ได้กลายเป็นร้านขายของที่ระลึกไปจนหมด จากตึกทางซ้ายมือสุดของเรานั้นจะมีทางขึ้นไปยังหอคอยเพื่อชมวิวจตุรัสจากด้านบน และยังสามารถมองย้อนกลับไปยังมัสยิด Bibi-Khanym ได้ด้วย แต่ที่ทำให้เรางงได้มากที่สุดเห็นจะเป็นซุ้มประตูที่มีรูปสัตว์หน้าตาตลาดกับเจ้ากวางน้อยพี่อยู่ด้านบนเพราะตามความเชื่อของชาวอิสลามนั้นจะไม่มีการใส่รูปสัตว์ลงไปในสิ่งที่เกี่ยวข้องกับศาสนาเด็ดขาด ซึ่งถ้าถามว่าแล้วทำไมที่นี่จึงมีรูปสัตว์อยู่บนประตูของโรงเรียนสอนศาสนาอิสลามได้ก็ยังไม่มีใครรู้คำตอบนั้นเช่นกัน …

จากจตุรัสที่สวยตาแตกก็ได้เวลามาเดินเล่นชิวๆ กินลมชมวิวและบรรยากาศของชาวพื้นเมืองที่นี่กันสักหน่อย และก็เป็นเวลาที่เราจะเข้าชมสถานที่สุดท้ายของเมืองนี้ก่อนที่จะเดินทางต่อไปยังอีกเมืองหนึ่งที่ Bibi-khanum Mosque มัสยิดบีบีคานิม สถานที่ที่ถูกบันทึกไว้ว่าเป็นมัสยิดในตำนานเพราะเรื่องราวของการก่อสร้างที่แสนอลหม่านตามตำนานที่เล่าว่า ภรรยาบีบีคานิมที่ Tamerlane โปรดปรานที่สุดนั้น อยากจะสร้างมัสยิดที่ยิ่งใหญ่ที่สุด ในซามาร์คาน์ขึ้นเพื่อฉลองชัยชนะให้กับสามีของเธอที่กำลังจะกลับมาจากอินเดีย หลังจากที่ได้สถาปนิกฝีมือดีมาดูแลการก่อสร้างให้นั้น เจ้าสถาปนิกก็ดันหลงรักพระราชินีจึงแกล้งถ่วงเวลาในการสร้างมัสยิดต่อไปอีกเรื่อยๆ แม้ไม่มีทีท่าว่าจะเสร็จเสียทีจนพระราชีนีต้องเรียกคนดำเนินการมาถามแต่กลับได้รับคำตอบว่าหากเธออยากสร้างให้เสร็จทันเวลาจะต้องยอมให้เขาจูบเธอ การต่อรองเกิดขึ้นเป็นเวลานานแต่สุดท้ายสถาปนิกก็ได้ทำตามความต้องการ และสร้างมัสยิดเสร็จก่อนที่สามีของราชินีจะกลับมาทันเวลาตามที่สัญญาไว้ เรื่องราวมัสยิดนี้จึงค่อนข้างจะอื้อฉาวไปสักหน่อยไปเสียหน่อย แต่ความสวยงามนั้นก็ทำให้เราสัมผัสถึงความรักที่เขามีต่อเธอได้จริงๆ

แสงสีทองเร่ิมส่องให้เห็นรำไรเป็นสัญญาณว่าได้เวลาที่พวกเราต้องเดินทางจากเมืองซามาร์คานด์ไปยังเมืองบูคาราได้แล้ว นอกจากทะเลทรายที่งดงามจะช่วยบรรเทาความเงียบงันตลอดระยะเวลา 6 ชั่วโมงในการข้ามเมืองได้แล้ว ก็ยังมีไร่ฝ้ายสีขาวโพลนเป็นอีกหนึ่งความสวยงามที่เราต้องขออนุญาตแวะลงไปถ่ายรูปในช่วงเวลาที่ชาวบ้านกำลังเร่งมือกันเก็บดอกฝ้ายเพื่อส่งไปยังต่างเมือง

 

Day 5 : Bukhara — Khiva

เมื่อรุ่งอรุณแห่งวันใหม่มาเยือนร่างกายก็พร้อมออกเดินทางไปยังพื้นที่มรดกโลกในเมืองบูคารา Poi-Kalyan Ensemble ที่ประกอบไปด้วยอนุเสาวรีย์ถึงสี่อนุสาวรีย์ในพื้นที่เดียวกันนั่นก็คือ Kalyan mosque, Miri-Arab Madrasah, Kalyan minaret และ Amir-Allimkhan Madrasah โดยที่ Kalyan minaret จะโดดเด่นที่สุดเพราะมันคือหอคอยที่สูงที่สุดในเมืองที่สร้างขึ้นตั้งแต่ศตวรรษที่ 12 สูง 48 เมตร กว้าง 9 เมตร ด้านบนสุดมีหน้าต่างอีก 16 บาน นอกจากมีลวดลายของกระเบื้องสีฟ้าแล้วรอบๆ ยังสลักเรื่องราวของผู้สร้างที่ชื่อ Master Baqo อีกด้วย เมื่อก่อนเอาไว้ส่งเสียงเรียกให้ชาวบ้านมาละหมาด ใช้สังเกตการณ์ข้าศึกในยามสงคราม และไว้เป็นสัญลักษณ์ให้กับคาราวานที่กำลังเดินทางในทะเลทราย

บอกเลยว่าที่นี่ให้ความรู้สึกว่าเป็นที่สุดของความอลังการที่เราชอบมาก เพราะในความมโหฬารที่เราได้เห็นผ่านตามาตลอดทริปที่ว่าสวยงามแล้วเราว่าที่นี่มีความลงตัวทั้งในแง่ของสถาปัตยกรรมและการวางผังเมือง และเราก็โชคดีที่ Instagram นำทางเรามายังโฮสเทลเล็กๆ ที่เสิร์ฟกาแฟ ชา ขนมพื้นเมืองจำพวกถั่วเคลือบน้ำตาลบนดาดฟ้า ซึ่งอยู่ตรงข้ามกับจตุรัสแบบพอดีเหมือนจับวาง ไม่รอช้าเราเลยเอาตัวขึ้นไปนั่งหามุมคูลๆ เพื่อถ่ายรูปในสไตล์คนพื้นเมืองสักหน่อย บอกเลยว่าดียยยยยยย ชิคเว่อร์ เก๋มากกกกกก ปังแบบกราบอ่ะ

Citadel Ark ป้อมปราการแห่งบูคาราสัญลักษณ์แห่งพลังและอำนาจของรัฐในอดีตตกาล ป้อมแห่งนี้ถูกขุดค้นและตรวจสอบพบว่ามันถูกสร้างขึ้นตั้งแต่ศตวรรษที่ 4 ก่อนคริสตกาล โครงสร้างทั้งหมดที่เราเห็นอยู่นี้มีความสูงถึง 20 เมตร ซึ่งเป็นความสูงของป้อมปราการชั้นบนที่ถูกสร้างไว้เหนือป้อมปราการไม้หลังเดิมที่ได้ถูกทำลายลงจากไฟไหม้ในปี 1920 ช่วงสมัยของเจ้าชายองค์สุดท้ายแห่งบูคารา และได้ถูกบูรณะขึ้นใหม่จากหลักฐานทางประวัติศาสตร์ ภายในป้อมแห่งนี้คือเมืองเมืองหนึ่งประกอบด้วยบ้านเรือน ศาล สนามหญ้า ที่พักของเจ้าชายและภรรยา สถานีตำรวจ คุก ฯลฯ และด้านหลังยังมีโรงละครและแกลอรี่ที่ถูกสร้างขึ้นในศตวรรษที่ 17 ซึ่งในปัจจุบันช่วงกลางวันจะมีการแสดงละครและเปิดให้นักท่องเที่ยวได้เข้าไปชมความยิ่งใหญ่ของอดีตป้อมปราการแห่งนี้

ถัดเข้าไปข้างในด้านบนสุดเรากำลังยืนประจันหน้าอยู่กับ Jama Masjid ที่ประกอบด้วยเสาไม้แกะสลักถึง 16 ต้น โดยแบ่งเป็นด้านนอก 12 ต้นและด้านในอีก 4 ต้นที่ตั้งอยู่บนเสาหิน ซึ่งยอดสุดของเสาแกะสลักนี้กำลังค้ำยันเพดานไม้ที่แกะสลักเป็นรูปเรขาคณิตและเถาวัลย์ รอบๆ ตัวอาคารจะมีประตูและหน้าต่างรวมกันทั้งหมด 8 บาน ซึ่งเป็นการสื่อถึงทางเข้าสู่ประตูสวรรค์ตามความเชื่อโบราณ ปัจจุบันภายในเป็นพื้นที่จัดแสดงคัมภีร์อัลกุรอานโบราณ

โดยห้องทั้งหมดทั้งมวลที่กำลังเล่าเรื่องราวในประวัติศาสตร์อยู่นี้ได้ถูกเปลี่ยนแปลงให้กลายเป็นพิพิธภัณฑ์เพื่อให้คนรุ่นใหม่ได้เข้าไปชม ดังนั้นแล้วหากใครเป็นสายมิวเซียมงานนี้รับรองได้ว่าจุใจกันทั้งวันอย่างแน่นอน และถ้าอยากเข้าถึงบรรยากาศให้มากขึ้นที่นี่ก็ยังมีเครื่องแต่งกายในยุคโบราณรวมทั้งบัลลังก์กับมงกุฎจำลองให้เช่าถ่ายรูปกันได้อีกด้วย

นอกจากนี้ด้านหลังของป้อมปราการยังมีโดมอีกสามหลังที่ถูกสร้างขึ้นในสมัยศตวรรษที่ 16 อีกด้วย และอาจเนื่องด้วยที่นี่เคยเป็นเส้นทางสายไหมมันจึงยังผูกติดเรื่องราวของการค้ามาจนถึงปัจจุบันเพราะโดมทั้งสามที่เราเห็นในขณะนี้ก็เป็นโดมที่เอาไว้ใช้สำหรับค้าขายจิวเวอรี่ ผ้า รวมถึงสร้างเป็นโรงแรม และจุดแลกเงินสำหรับนักท่องเที่ยว อีกทั้งยังมีร้านรวงเล็กๆ ตั้งอยู่ทั่วบริเวณอีกหลายร้าน

Sitorai Mokhi-Khosa Palace พระราชวังฤดูร้อนของเจ้าชายอาหรับแห่งบูคาราที่สร้างให้ภรรยาของเขาในช่วงกลางของศตวรรษที่ 19 เพื่อเป็นพระราชวังแห่งใหม่ที่สวยที่สุดในประวัติการ โดยสถาปนิกที่ได้รับการฝึกฝนจากประเทศรัสเซียจึงมีการผสมผสานระหว่างตะวันออกกับตะวันตก แต่เพียงไม่กี่ปีหลังจากนั้นภรรยาของเขาก็ได้จากไปและชื่อของเธอก็ถูกนำมาเป็นชื่อของพระราชวังแห่งนี้ที่แปลว่าดวงดาวที่เหมือนกับดวงจันทร์ ต่อมาพระราชวังบางส่วนก็ได้ถูกทำลายไป ส่วนที่เหลืออยู่ที่เราเห็นในปัจจุบันนี้ได้ถูกสร้างขึ้นใหม่อีกครั้งในช่วงปี 1912 ถึง 1918 ด้วยคำสั่งของเจ้าชายองค์สุดท้ายแห่งบูราคาซึ่งใช้วัสดุที่แข็งแรงที่สุดในขณะนั้น ภายในพระราชวังประกอบด้วยห้องต้อนรับแขก และห้องส่วนตัวของเจ้าชาย ส่วนด้านนอกประกอบด้วยสระน้ำที่ใหญ่ที่สุดในเอเชียกลาง

Day 6 : One day in Khiva

เมืองสุดท้ายของการโร้ดทริปในครั้งนี้ก็คือ คีว่า (Khiva) เมืองเล็กเก่าแก่ๆ ที่มีอายุราว 2,000 ปี ในจังหวัดคอเรซึ่ม (Khorezm) อยู่ทางตะวันตกของประเทศอุซเบกิสถาน เรามาที่นี่เพื่อเยี่ยมชมอีกหนึ่งในมรดกโลกที่ได้รับการขึ้นทะเบียนโดยยูเนสโกในปี 1990 นั่นก็คือป้อมปราการในเขตเมืองเก่าของคีว่า ที่นี่คืออดีตศูนย์กลางการค้าขายสินค้าในช่วงคริสตศตวรรษที่ 10 ก่อนจะถูกรวมเข้าเป็นสหภาพโซเวียตในปี 1500 ถึง 1920 เราจะมาดูกันสิ้ว่าเมืองนี้จะเด็ดดวงพวงมาลัยเหมือนเมืองอื่นๆ หรือม่ายยยย

เข้ามาปุ๊บก็ไม่ต้องสงสัยสมมงมรดกโลกไม่มีอะไรค้านสายตาแม้แต่นิดเดียวกับ Kalta Minor Minaret สุเหร่าสีฟ้าใสสูง 29 เมตรนี้ที่ทำจากโมเสกสีต่างๆ ตั้งเด่นเป็นสง่าสวยงามโดยมีกำแพงเมืองและตึกสีนวลช่วยส่งให้สุเหร่านี้ดูโดดเด่นมากขึ้นไปอีก หอคอยแห่งนี้มีชื่อว่าสุเหร่าคัลตามินอร์หรือสุเหร่าสั้น มันถูกสร้างขึ้นในปี ค.ศ. 1855 เพื่อเป็นหอคอยไว้สังเกตการณ์เมืองบูคาราที่ห่างออกไปถึง 400 กิโลเมตร แต่ Mohummed Amin Khan ผู้สั่งให้สร้างก็ถูกสังหารทำให้เสียชีวิตไปก่อนที่หอคอยนี้จะเสร็จลง มันจึงมีความสูงเพียงหนึ่งในสามของความสูงที่มันควรจะเป็นเมื่อสร้างเสร็จ ไม่เช่นนั้นสุเหร่าแห่งนี้คงจะเป็นหอคอยที่มีความสูงมากที่สุดในโลกไปแล้ว

บางทีเราก็แอบสงสัยว่าคนที่นี่ในสมัยก่อนนั้นทำไมเค้าถึงทำอะไรได้อย่างปราณีตบรรจงขนาดนี้ เพราะทุกที่ที่เราไปล้วนถูกสร้างขึ้นอย่างยิ่งใหญ่และสวยงามมาตั้งแต่อดีตกาล Kuhna Ark สถานที่แห่งนี้ก็เช่นกัน เราลอดซุ้มประตูไม้ขนาดใหญ่เพื่อเข้าไปชมที่พักของอดีตผู้ครองนครคีว่าที่ถูกสร้างขึ้นตั้งแต่ศตวรรษที่ 12 และถูกขยายให้ใหญ่ขึ้นในศตวรรษที่ 17 จนถูกขนานนามว่าเป็นเมืองในเมือง แต่ภายในปลายศตวรรษที่ 18 เมืองแห่งนี้ก็ถูกแบ่งออกจากกันด้วยกำแพงเมือง ภายในป้อมแห่งนี้ประกอบไปด้วยที่ทำงานของข่าน อาคารต้อนรับ ฮาเลม มัสยิดฤดูร้อน และฤดูหนาว ฯลฯ เราจึงสามารถเดินดูไปเรื่อยๆ เพลินๆ ได้เกือบตลอดวัน

และเมื่อได้เข้ามาเยี่ยมที่ Kuhna Ark แห่งนี้แล้วจุดที่พลาดไม่ได้ก็คือจุดชมวิว ที่เราสามารถมองเห็นเมืองเก่าได้ทั่วทั้งเมืองแบบเต็มตา รวมถึงหอคอย Islam-Khoja Minaret และ สุสาน Pakhlavon Mahmud Mausoleum ที่มีโดมสีฟ้าหนึ่งเดียวในคีว่า และแม้ท้องฟ้าวันนี้จะไม่สดใสมันก็ไม่ได้ทำให้เมืองเก่าแห่งนี้สวยน้อยลงเลย

Juma Minaret เป็นตึกแบบโบราณที่ปราศจากประตูและโดมปราศจากเฉลียงและสนามหญ้า ตัวตึกถูกล้อมด้วยกำแพงอิฐ ส่วนภายในอาคารเดี่ยวถูกออกแบบให้มีเพดานแบน และคำ้ยันด้วยเสาไม้ 215 ต้น แต่ละต้นมีความสูงถึง 3.15 เมตร ในอดีตอาณาจักรคอริซึม (Khorezm) เคยถูกรุกรานเสาไม้ดังกล่าวจึงได้รับความเสียหายเหลือเพียง 17 ต้น แต่ต่อมาภายหลังก็ได้มีการบูรณะมาตลอดจนสิ้นสุดในศตวรรษที่ 18

จากนั้นเกราก็เดินต่อไปยัง Necropolis of Pahlavan-Mahmud สุสานของนักกวีและนักปรัชญาพาลาวัน มามูดห์ ที่ถูกสร้างขึ้นในช่วงศตวรรษที่ 18 โดยออกแบบให้มีโดมสูงสองชั้นและกลายมาเป็นสัญลักษณ์ของเมืองคีว่า และต่อมาได้ถูกใช้เป็นสุสานของราชวงศ์ ปัจจุบันได้มีการเปิดให้เข้าชมและเป็นที่ประกอบพิธีกรรมทางศาสนาด้วย

ก่อนจะไปทานมื้อเที่ยงเราแวะไปชมความอลังการกันต่อที่ พระราชวังทัช เฮาลี – Tosh Hovli Palace พระราชวังฤดูร้อนของท่านข่าน Khivan พระราชวังโอ่อ่าที่สร้างจากอิฐคุณภาพสูง ในช่วงกลางศตวรรษที่ 19 ประกอบด้วยสวน 3 แห่ง ซึ่งสวนแต่ละแห่งถูกสร้างอย่างใหญ่โตโดยมีจุดประสงค์เพื่อนรับแขกและสร้างความบันเทิงเริงรมย์ ทิศเหนือเป็นฮาเร็ม ส่วนในทางทิศใต้คืออาคารหลักและห้องพักของแขก โดยที่วัสดุและอุปกรณ์ทุกชิ้นที่นำมาใช้ในการก่อสร้างและการตกแต่งล้วนเป็นวัสดุที่สวยงามและทันสมัยมีความละเอียดแม้แต่ในส่วนของห้องเล็กๆ ก็ตาม ทำให้พระราชวังนี้โดดเด่นเป็นอย่างมากในสมัยนั้นและมีมุมให้ถ่ายรูปเยอะมากในสมัยนี้

แวะทานมื้อเที่ยงกันสักนิดที่ Tea House Mirza Boshi ร้านอาหารทรงสี่เหลี่ยมสีน้ำตาลอ่อนที่มีกำแพงเป็นพลาสติกใสอย่างหนาคลุมอยู่ ที่นั่งก็มีให้เลือกทั้งอินดอร์และเอาดอร์ แต่ด้วยอากาศที่หนาวและลมที่พัดใส่เราแบบรัวๆ ก็ทำให้ตัดสินใจได้ไม่ยากว่ามุมอุ่นๆ ด้านในคือมุมที่ดีที่สุด ร้านอาหารแห่งนี้เป็นร้านอาหารที่เสิร์ฟอาหารพื้นเมืองสไตล์คีวา ซึ่งก็ค่อนข้างคล้ายกับอาหารพื้นเมืองของเมืองอื่นๆ เพียงแต่อาหารของที่นี่จะมีกลิ่นเครื่องเทศที่เบาบางกว่าจึงทานง่ายกว่าสำหรับคนไทยเท่านั้นเอง

อาหารจานหลักสุดแปลกตาของเราในวันนี้คือเจ้าเส้นสีเขียวที่มีกลิ่นเหมือนผักชีลาวบ้านเราและราดมาด้วยเนื้อผัดซอสสูตรพิเศษ+เพิ่มอีกนิดกับโยเกิร์ตรสธรรมชาติสีขาว ก่อนรับประทานก็ต้องคลุกเคล้าทุกอย่างให้เข้ากัน แม้หน้าตาจะชวนงงแต่รสชาติที่ผสมผสานกันนั้นก็อร่อยอย่างไม่น่าเชื่อ ส่วนเหตุผลที่อาหารของที่นี่มักจะผสมโยเกิร์ตมาด้วยน่าจะเป็นเพราะคนอุซเบกิสถานไม่ค่อยชอบรับประทานผักจึงต้องทานโยเกิร์ตเพื่อช่วยในการย่อยและการขับถ่าย จานหลักผ่านไปเราก็ตบท้ายด้วยของหวานและกาแฟร้อนหนึ่งแก้วเพิ่มความอบอุ่นให้กับร่างกายก่อนออกไปเดินหนาวต่อ

พออิ่มพุงกางพวกเราก็ออกมาเดินย่อยด้วยการนู่นนี่นั่นในเขตเมืองเก่ากันต่อ ซึ่งสำหรับสายประวัติศาสตร์ก็คงจะรู้สึกอินกับทุกซอกทุกมุมอยู่พอสมควรเพราะเรื่องราวของสถานที่แต่ละแห่งของที่นี่ล้วนมีเรื่องราวบันทึกไว้อย่างละเอียดละออชัดเจน แต่สำหรับเราที่ไม่ได้อินมากนักและต้องได้เห็นพระราชวังสุดโออ่าโหฬารที่ตกแต่งด้วยโมเสกสีฟ้าสุดละเอียดละอออยู่ทุกวันก็ทำให้เริ่มที่จะเลี่ยนขึ้นมาแล้ว อารมณ์เหมือนเวลาที่เราไปเที่ยวชมเก้าวัดที่วัดแรกแรกก็ยังดูตื่นตะลึงแต่วัดหลังๆ ก็ชักจะชินกับความสวยงามไปแล้วจนไม่รู้ว่าจะเดินดูอะไรดีละ

เราเลยขอเปลี่ยนจากการชมมาเป็นการช้อป ซึ่งบริเวณรอบข้างเราจะได้พบร้านเล็กๆ ที่นำสินค้าแฮนด์เมดจำพวกเซรามิก จาน ชาม หม้อ ไหต่างๆ มาวางจำหน่าย ซึ่งแต่ละชิ้นก็เหมือนเอาพระราชวังมาย่อส่วนนั่นแหละเพราะมีความละเอียดปราณีตจนเราต้องขอชื่นชมว่าคนประเทศนี้เก่งงานฝีมือกันมากๆๆๆๆ ตั้งแต่ยุคอดีตจนถึงยุคปัจจุบันกันเลย นอกจากนี้ก็ยังมีข้าวของกระจุกกระจิกจำพวกผ้าที่เราสามารถเดินเข้าไปดูกรรมวิธีการทอด้วยมือได้ด้วย คราวนี้สายช้อบที่ชอบงานแฮนด์เมดและงานที่โดดเด่นไม่เหมือนใครได้กระเป๋ารั่วไปตามๆ กันทีเดียว

Day 7 : Khiva — Tashkent

วันสุดท้ายก็ได้เวลาที่เราจะกลับไปยังเมืองหลวงทาชเคนต์โดยเครื่องบิน และเพราะวันนี้พวกเราต้องเดินทางกลับเลย เราจึงวางแผนไว้เพียงแค่การกลับมาเดิน Shopping ซื้อของฝากต่อกันนิดหน่อยที่ตลาด Chorsu Bazaar ตลาดโดมสีฟ้าขนาดใหญ่พี่เรามากันในวันแรกนั่นแหละ งานนี้ใครเล็งใครจับจองอะไรไว้ก็ต้องรีบคว้าไว้ให้ทันก่อนกลับ ซึ่งหากใครคว้าได้เร็วและมีเวลาเหลือเราแนะนำให้ไปเดินกันต่อที่ Samarkand Darvoza Mall แม้ว่าที่เมืองแห่งนี้จะมีห้างสรรพสินค้าอยู่หลายแห่งแต่ที่นี่จัดเป็นห้างที่ใหญ่และหรูหราที่สุด อย่างน้อยการได้ลองแวะเข้าไปดูเข้าไปชมก็คุ้มเวลาแล้ว หรืออยากจะ Shopping เสื้อผ้าแบรนด์เนมนั่งชิวในร้านคาเฟ่ขนาดใหญ่ก็มีหลาย ร้านให้เราเลือกหรือจะเดินลงไปชั้นล่างที่แผนกซุปเปอร์เพื่อซื้อขนมนมเนยแบบพื้นเมืองแบนด์โลคอล ก็มีให้เลือกกันจนตาแตก ชอบปุ๊บจ่ายเงินปั๊บก็ได้เวลากลับไทยเพื่อมากินส้มตำปลาร้าแซ่บๆ ที่เราคิดถึง ^^

จบกันไปแล้วกับเจ็ดวันแบบฉบับโร้ดทริปเที่ยวเอเชียกลางในประเทศที่เราไม่เคยนึกอยากจะมา แต่เมื่อมาแล้วก็อย่างที่บอกแกไปแหละว่ามันดีจริงๆ ทุกอย่างของที่นี่มันชวนให้เรารู้สึกตื่นตะลึงได้เสมอแม้ว่าจะเริ่มเอียนๆ หน่อยในวันหลังๆ ก็ตาม คือฟิวแบบไปที่ไหนก็สวยทุกที่มโหฬารไปทุกที่โออ่าใหญ่โตละเอียดละออไปซะทุกที่จนชินตาไปซะหมด แต่ถ้าถามว่างั้นควรไปทุกที่ที่แนะนำไหมเราก็จะตอบว่าหากมีโอกาสก็ควรจะมาเพราะไอ้สิ่งที่เราเห็นชินตาในบ้านนี้เมืองนี้มันไม่สามารถหาได้จากที่อื่นจริงๆ และเรื่องราวต่างๆ ของแต่ละที่ที่เราได้รู้มาก็ล้วนแต่น่าสนใจและสนุกสนานชวนให้เดินไปคิดไปว่าสมัยก่อนหากมีคนและสิ่งมีชีวิตรวมอยู่ด้วยในที่ที่สวยงามขนาดนี้มันจะดูบันเทิงและมีชีวาขนาดไหน นอกจากสิ่งก่อสร้างที่น่าประทับใจแล้วอาหารและผู้คนของที่นี่ที่แม้จะไม่ชินตาสำหรับเราแต่ทุกอย่างก็สร้างความประทับใจให้เราได้อย่างดีจนเราต้องนำเรื่องราวมาบอกต่อและชวนพวกแกให้ลองเปิดใจกับประเทศนี้ดูไงล่ะ