รีวิวอาห์มาดาบัด 4 วันแบบครบรส : World Heritage City “Ahmedabad”

อินเดียคือประเทศที่มีคำกล่าวไว้ว่าหากได้มาสักครั้งหนึ่ง … ถ้าไม่รักก็เกลียด เพราะอินเดียไม่มีคำว่าตรงกลาง แต่สำหรับเรา .. เราว่าอินเดียมีแต่จะทำให้คนที่ได้มาตกหลุมรักได้มากกว่าเก่าซะมากกว่า ก็อินเดียของจริงน่ะอลังการสุดใจขาดดิ้น ถ่ายรูปฟินจนต้องขยี้ตา สวยงามชวนอึ้ง โดยเฉพาะเมืองระดับโลกอย่าง อาห์เมดาบัด เพราะท่ามกลางฝุ่นสีแดงคือสิ่งสร้างหลายร้อยปีที่การันตีความพิศมัยโดยยูเนสโก้ ท่ามกลางผู้คนไว้หนวด ผิวกรำแดดสีดำแดงหน้าถมึงคือผู้คนที่พร้อมหัวเราะร่าและยินดีต้อนรับทุกผู้ที่มาเยือน ท่ามกลางกลิ่นเครื่องเทศที่ปนเปคืออาหารพื้นถิ่นรสเข้มกลมกล่อม ท่ามกลางแสงแดดที่ร้อนแรงคือความงามอันเจิดจ้า ท่ามกลางเสียงแตรที่ดังสนั่นคือความสวยงามอันแสนเงียบสงบ มาร่วมเดินในดินแดนที่จะทำให้แกร้องว้าวแบบสิ้นเปลืองที่สุดแห่งหนึ่ง เอาหล่ะ!!! หมดเวลาพรรณนาไปเรื่อยเปื่อย หยิบเดรสผ้าไหมสีขาวตัวเด็ด กรีดไลเนอร์ให้วิ้งจนถึงหางตา แล้วออกเดินทางไปไฟท์กับสาวหน้าคม ผู้ใส่สาหรีสีแดงสดให้ถึงถิ่นด้วยกันเถอะ

ทริปนี้เราจะเริ่มต้นกันที่ อาห์เมดาบัด เมืองบ้านเกิดของนักต่อสู้ทางการเมืองที่โด่งดังที่สุดของอินเดียท่านมหาตมะคานธี อดีตเมืองหลวงของรัฐกุจรัตที่ร่ำรวยวัฒนธรรมจนได้รับการประกาศให้เป็นเมืองมรดกโลกแห่งแรกในอินเดีย ก่อนจะเดินทางต่อไปที่อุดัยปูร์ หนึ่งในเมืองของรัฐราชาสถานที่ได้รับการขนานนามว่า City of lakes เพราะมีทะเลสาบล้อมรอบทำให้มีทิวทัศน์สวยงามจนขึ้นชื่อว่าโรแมนติกที่สุดในอินเดีย โดยทริปนี้เราจะเดินทางกันด้วยไพรเวทคาร์ที่ราคาไม่แพง แถมได้เพื่อนเป็นคนขับมาเพิ่มอีกคนยามออกนอกเมือง แต่พออยู่ในเมืองพวกเราก็เดินเล่นชิล ๆ เก็บแลนด์มาร์ค สลับมานั่งริกชอร์หรือตุ๊กตุ๊กอินเดียบ้าง เพื่อเพิ่มอรรถรสไว้เก็บไปเล่าต่อ เรียกว่าเป็นการเดินทางที่ครบรสในราคาสุดคุ้ม ยิ่งไปกันสามสี่คนหารออกมาแล้วยิ่งถูกเข้าไปใหญ่ งานนี้การันตีความสนุก และ Unseen India สมกับรูทเปิดใหม่แน่นอน ฟันธง!!!

นอกจากความประหยัดในการบินท่องโลกที่สายการบินแอร์เอเชียมอบให้ ก็เห็นจะเป็นรูทใหม่ รูทแปลกแต่ดีที่มักมีมาให้เราได้ตื่นเต้นและอยากออกค้นหานี่แหล่ะ เอาจริงๆ บอกเลยว่าบางเมืองเราได้รู้จักได้ยินชื่อก็จากแอร์เอเชียเป็นที่แรกนี่แหล่ะ แล้วแต่ละเมืองที่เราตามไปคือไม่มีผิดหวังสักครั้ง ดังนั้นในเมื่อเค้าเพิ่ม อาห์เมดาบัด อินเดียมาให้เราอีกหนึ่งเมือง งานนี้มีหรือจะพลาด ก็ต้องตามไปดูว่า เอ้ะ ที่นี่มันดียังไง ว่าแล้วก็จัดไปจ่ะ ดอนเมือง-อาห์เมดาบัด ที่มีบินตรงสัปดาห์ละ 4 เที่ยวบิน (จันทร์, พุธ, ศุกร์ และ อาทิตย์ ) ใช้เวลาประมาณ 4 ชั่วโมง 10 นาที ถือว่าเป็นระยะทางกลาง ๆ แต่กระนั้นก็ดี เราก็อยากจ่ายโลว์คอสแต่ได้ฟีลแบบฟูลเซอร์วิส เลยจัดไปแบบเช่นเคยกับ แพ็กสุดคุ้ม ที่ฉันคู่ควร ที่จ่ายเพิ่มอีกนิดแต่ประหยัดสูงสุดได้มากถึง 20% พร้อมรับอาหารร้อน ๆ แสนอร่อย เลือกที่นั่งได้ตามใจ ยกเว้นในห้องกัปตันและที่นั่งแอร์ แถมมีน้ำหนักกระเป๋าให้อีก 20 กิโลกรัม จะขนพร็อพ ขนของฝากก็โหลดได้สบายใจ ปิดท้ายด้วยประกันการเดินทาง คุ้มจุก!!! ไปจอง!!!

Day1 : Rani Ki Vav — Modhera Sun Temple — The Adalaj Stepwell

• Rani Ki Vav

วันแรกเมื่อมาถึง Rani Ki Vav ประทานโทษจ้า บอกเลยว่าทางเดินยาวแปดเมตร ก้าวแรกไม่เป็นไร ก้าวสองเสียงกรี๊ดเริ่มเข้ามาในลำคอ ก้าวสามตาค้างในความสวย สาธุอภินิหารหลวงปูเค็มจริงๆ โอ้ย ยูววว คือมันดีจย์ ดีจย์ ดีจย์ 10 10 10 มากแม่ เพราะนี่คือสถาปัตยกรรมทรงโค้งที่เหมือนตึกขนาดยักษ์ถูกฝังอยู่ในชั้นใต้ดิน ความวิจิตรบรรจงอันแสนแปลกประหลาดนี้ แท้จริงแล้วมันคือ วิหารใต้ดิน 7 ชั้น ที่ใช้เก็บกักน้ำสุดใหญ่โต เพราะมีความยาวถึง 64 เมตร กว้าง 20 เมตร และลึก 27 เมตร นางถูกสร้างขึ้นในปลายศตวรรษที่ 11 เพื่อใช้ในการชลประทานทั้งในยามแล้งและในยามฤดูฝน แนวผนังตลอดทางเดินทั้งเจ็ดชั้นถูกแกะสลักแบบนูนต่ำให้เป็นภาพของเทพเจ้าในอิริยาบถต่าง ๆ โดยมีเรื่องราวตามคัมภีร์ของอินเดีย เราจึงสามารถสังเกตุเห็นเทพเจ้าหลายพระองค์ ไม่ว่าจะเป็นพระศิวะ พระวิษณุ พระกฤษณะ และนางอัปสรสวรรค์ ในกริยาต่างๆ

ทางเราเดินดูไป เดินอึ้งไป เป็นงงในตัวเองว่า ไปอยู่ไหนมา ทำไมถึงเพิ่งรู้ว่ามีเมืองนี้ ที่เที่ยวคือคนไม่เยอะเลยยยย จีน ฝรั่งนี่แทบไม่เห็น เรียกว่า สดใหม่ในสากลมากเว่อร์ ส่วนมากมีแต่ชาวอินเดีย ทำให้เดินพิจารณาความละเอียดของงานแกะสลักที่ละเอียดมาก ๆ เดินถ่ายรูปได้แบบเพลิน ๆ มุมไม่ซ้ำใคร ขนาดในไอจียังหา Ref. แทบไม่เจอ!!! เป็นอินเดียมุมที่ว้าวเกินกว่าที่จินตนาการจริง ๆ อึ้ง ตะลึง ชวนจินตนาการ ชวนขนลุกตั้งแต่โลเคชั่นแรก สมแล้วกับที่เมืองนี้เป็นเมืองแรกในอินเดียที่ได้รับการยกย่องให้เป็นเมืองมรดกโลกจากยูเนสโก้ และชวนให้จินตนาการถึงวัน และโลเคชั่นต่อ ๆ ไป มาก ๆ ว่ามรดกโลกของที่นี่จะยิ่งใหญ่ขนาดไหน แต่ก่อนจะคิดไปไกล เอาจิตเอาใจกลับมาที่เดิม เดินสะบัดกระโปรงจิกกล้องตาแตกให้ครบทุกมุม แบบไม่มีผู้คนมากวนเฟรมให้กวนใจ ถ่ายมุมไหนก็ไฉไลแน่นวลจ้า

• Modhera Sun Temple

ห่างออกไปไม่ถึง 30 นาที เราก็จะได้พบกับอีกหนึ่งควมสวยงามชวนทึ่ง Modhera Sun Temple ศาสนสถานของชาวฮินดูที่ก่อสร้างขึ้นเพื่อนมัสการสุริยเทพ ตั้งแต่ปีคริสตศักราช 1026 ตัวโครงสร้างถูกแบ่งเป็นสามส่วนด้วยกันคือส่วนที่เป็นสถานที่ บูชาเทพเจ้า, ส่วนของลานชุมนุมอเนกประสงค์ และส่วนที่เป็นบ่อน้ำขนาดใหญ่ ส่วนต่างๆ ของศาสนสถานถูกแกะสลักแบบนูนต่ำอย่างปรานีต ไม่ว่าจะเป็นกำแพงแต่ละด้านและเสาแต่ละต้น

แต่ส่วนที่โดดเด่นที่สุดก็คือส่วนของอ่างเก็บน้ำที่เรามักจะเห็นในโซเชียลบ่อยๆ หรือที่เรียกว่า Stepwell การเดินลงบ่อน้ำ โดยจะต้องลงบันไดที่สลับขั้นกันตั้งแต่ด้านบนจนถึงด้านล่างเป็นแนวคิดและวิธีที่ชาวอินเดียใช้สำหรับบ่อน้ำสาธารณะ เพราะคิดมาแล้วว่าทางเดินขึ้นบันไดสลับขั้นแบบนี้จะช่วยให้สามารถเดินลงไปตักน้ำได้สะดวกและได้ครั้งละหลายหลายคนมากที่สุด เป็นไอเดียที่มีอรรถประโยชน์สูง และยังมีสถาปัตยกรรมการออกแบบที่โฉบเฉี่ยวสวยงามน่าชื่นชมด้วย โดยจุดเด่นของ Stepwell Surya Kund แห่งนี้ คือระหว่างขั้นบันไดที่เดินลงไปจะมีอารามเล็ก ๆ ระหว่างบันไดมากถึง 108 อาราม แต่ละอารามจะมีรูปเทพเจ้าดัง ๆ ของศาสนาฮินดูอยู่ด้านใน ไม่ว่าจะเป็น พระศิวะ พระวิษนุ พระพิฆเนศ และเทพเจ้าองค์อื่น ๆ อีกมากมาย แสดงให้เห็นถึงความละเอียด และตั้งใจสร้างบ่อน้ำแห่งนี้เป็นอย่างมาก

• The Adalaj Stepwell

ยิงยาวกลับเข้าในเมืองมาปิดท้ายโลเคชั่นวันแรกแบบขนลุกกันที่ The Adalaj Stepwell ซึ่งนางถือเป็น Stepwell ที่โด่งดังสุดในหมู่ Stepwell ด้วยกัน สร้างในสมัยพระนางรูดาตามสลักจารึกภาษาสันกฤตที่เขียนไว้ด้านล่างของบ่อนั่นเอง ที่นี่คือบ่อน้ำทรงแปดเหลี่ยมสูงห้าชั้น บนผนัง และเสาทุกต้นล้วนถูกแกะสลักอย่างปราณีตดังเช่นโบราณสถานสำคัญอื่น ๆ ในเมือง ทำให้เราสัมผัสได้ว่าชวนอินเดียมีใจฝักใฝ่ในศาสนาเป็นอย่างมาก ทุกแห่งที่เค้าสร้างล้วนมีความเชื่อมโยงกับเทพเจ้าอยู่เสมอ

เพิ่มเติมข้อมูลให้ดูมีความรู้กันสักนิดกับ Stepwell ที่ถูกพูดถึงอย่างหลากหลายนี้ แท้จริงแล้วมันก็หมายถึงบ่อน้ำทั่ว ๆ ไปนี่แหล่ะ เพียงแต่เจาะจงลงไปว่าเป็นบ่อน้ำที่มีทางเดินลงเป็นขั้น ๆ สามารถเดินลงไปเพื่อตักน้ำในบ่อได้ตลอดไม่ว่าระดับน้ำจะอยู่ติดก้น หรือสูงท่วมปากบ่อ ซึ่งนิยมอย่างมากในสมัยอดีต และอย่างที่บอกอรรถประโยชน์ที่มากด้วยสไตล์นี้ยิ่งทำให้เราว๊าวในทุก ๆ ก้าว ยิ่งก้าวลงบรรไดเข้าไปสำรวจ ยิ่งลึกก็ยิ่งรู้สึกทึ่ง ยิ่งเดินไปจนสุดแล้วมองแหงนขึ้นมาก็จะเห็นเป็นชั้นๆ แต่ละชั้นที่เราก้าวผ่านลงมา เป็นมุมแปลกตาที่หาชมได้แค่ที่อินเดีย ลองคิดถึงจังหวะที่แสงลอดผ่านลงมาเผยให้เห็นแสงเงาของรูปสลัก นี่ถึงกับคิดว่า เอ้อบ่อน้ำจำเป็นต้องสวยขนาดนี้ไหม แม่คุ๊ณ ที่นี่ทำให้การปิดท้ายวันแรกฉ่ำมาก คือเข้าห้องนี่แทบเปิดมหากาลีดูเลยอ่ะ

Day2 : • Dada Harir Vav — Heritage Walk of Ahmedabad — Swaminarayan Mandir — Jama Masjid — Bahubali Hills Udaipur

• Dada Harir Vav

เช้าวัดถัดมาเรายังคงวนเวียนอยู่กับอีกหนึ่ง Stepwell ชวนว้าวที่อยู่ไม่ไกลจากตัวเมืองอาห์เมดาบัด Dada Harir Vav ที่นี่เป็นศูนย์กลางที่มีมัสยิด หลุมฝังศพ และบ่อน้ำอยู่ในอาณาเขตเดียวกัน ด้านในปรากฏเป็นภาษาสันสกฤตและอาราบิกอยู่บนกำแพงจารึกแสดงให้เราเห็นว่าผู้ที่สร้างมันขึ้นมาคือ Dada Harira สตรีจากชนชั้นสูงผู้เป็นคนรวบรวมทุนทรัพย์ ในการก่อสร้างอ่างเก็บน้ำแห่งนี้ขึ้นมาในช่วงของสุลต่าน Gujarat Muhmud Begara มันถูกสร้างตั้งแต่ฝั่งตะวันตกยาวไปจนถึงฝั่งตะวันออก โดยที่แต่ละจุดจะถูกเชื่อมกันผ่านเสาและคาน การเดินลงจะมีบันไดยาวทอดจากด้านบนสุดสู่ด้านล่าง เป็นอีกครั้งที่ทำให้เราสงสัยว่าบ่อน้ำจำเป็นต้องถูกสร้างอย่างทรงคุณค่าถึงขนาดนี้ด้วยหรือ

แต่แล้วความรักที่จะเรียนรู้ของเราก็ทำให้เราได้คำตอบว่า บ่อน้ำของที่นี่ทำไมมันถึงต้องสวยงามและทรงคุณค่ามากเว่อร์ขนาดนี้ คำตอบก็คือ Stepwell เค้าทำขึ้นเพื่อเป็นการจัดการระบบชลประทานของเมือง ซึ่งแสดงให้เห็นถึงการจัดระบบเมืองที่ดีของชาวอินเดียโบราณที่เล็งเห็นว่าน้ำเป็นปัจจัยสำคัญที่สุดอย่างหนึ่งของการสร้างเมือง และเป็นสิ่งที่ต้องใส่ใจอย่างดี ไม่เช่นนั้นหากเกิดความแห้งแล้งขึ้นในเมืองใหญ่ก็อาจนำมาสู่ความโกลาหลที่ใหญ่หลวงได้ ดังนั้นบ่อน้ำจึงเป็นมากกว่าบ่อน้ำเพราะมันกลายมาเป็นความมั่นคง เป็นสถานที่พักผ่อน และเป็นสถาปัตยกรรมที่สำคัญของเมือง คิดง่าย ๆ ว่าตามปกติมนุษย์จะสร้างบ้านเรือนอยู่ใกล้กับแหล่งน้ำ แต่อย่างอินเดียที่แหล่งน้ำมีไม่มากนัก และไม่ใช่ทุกคนจะเข้าถึงได้ในทุกฤดู การขุดบ่อจึงเป็นสิ่งทดแทนแม่น้ำก็ว่าได้

• Heritage Walk of Ahmedabad

แม้อับดุลไม่บอกเราก็พอเดาได้ว่าเมืองมรดกโลกอาห์เมดาบัดแห่งนี้ ต้องเคยจัดจ้านในย่านนี้มาก่อนอย่างแน่นอน มันต้องเป็นเมืองโบราณที่มีอดีตโชติช่วง ยาวนาน ดังนั้นมันจึงมีเส้นทางการท่องเที่ยวที่ห้ามพลาดที่ถูกเรียกว่า Heritage Walk of Ahmedabad หรือเส้นทางมรดกแห่งเมืองอาห์เมดาบัด ที่จะพาเราลัดเลาะมัสยิด บ้านเรือน และสิ่งก่อสร้างที่มีมาแต่โบราณ รวมถึงชมวิถีชีวิตของชาวเมืองกันอย่างใกล้ชิด ซึ่งอันที่จริงหากใครต้องการฟังเรื่องราวประวัติศาสตร์ของสถานที่แต่ละแห่งโดยละเอียดก็สามารถเลือกซื้อทัวร์ในเส้นทางนี้ได้ทั้งในเส้นทางตอนเช้าและตอนกลางคืน ส่วนเราเน้นเก็บภาพและซึมซับบรรยากาศ เลยเลือกที่จะเดินเที่ยวกันเองโดยก็แอบดูเส้นการเดินจากบริษัททัวร์ทั่วไปที่ลงไว้นั่นแหล่ะ

• Swaminarayan Mandir

ทางเราเริ่มจากจุดเริ่มต้นของเส้นทางคลาสสิคนี้กันที่ Swaminarayan Mandir วัดฮินดูแห่งแรกของเมืองที่ใช้สำหรับเผยแพร่และศึกษาปรัชญาคำสอน ที่นี่ถูกสร้างโดย Swaminarayan Bhagwan ผู้ก่อตั้งศาสนาฮินดู แล้วเสร็จในปี 1,822 หรือ เกือบ 200 ปีมาแล้ว ด้านในถูกแบ่งเป็นสองฝั่งคือบัลลังก์ของพระนาราย และพระแม่ลักษมี ตัวอาคารมีเสาโค้งอยู่เยอะมาก  ๆ สีที่ใช้จะออกแนวพาสเทลผสมกับเอิร์ธโทน อย่างสีน้ำตาล ฟ้า เขียว และส้มอ่อน แต่ละเสาก็จะมีรูปสลักทั้งนูนสูงและนูนต่ำของเทพต่าง ๆ ประจำอยู่แต่ละต้น เท่าที่สังเกตเราว่าเค้าดูแลได้ค่อนข้างดีมาก ๆ เพราะแทบจะไม่มีฝุ่นจับอยู่เลยแม้แต่ด้านบนของตัวเสา และถ้าเดินเพลิน ๆ ก็อาจจะมีหลงได้เพราะมุมค่อนข้างจะคล้ายกัน

ออกมาจากวัดเราก็ยังคงอยู่บนเส้นทางแห่งมรดกอันยาวนาน คือตลาดที่ยังคงวิถีชีวิตตามสไตล์ชาวอินเดียที่มีชีวิตชีวาจนเรียกได้ว่าเกินพอดีในช่วง 5 นาทีแรก แต่เมื่อเริ่มปรับตัวเข้ากับความคึกคักนี้ได้ เราก็รู้สึกสนุกที่ได้เห็นการจับจ่ายใช้สอยของผู้คน และการเดินเข้าร้านโน้นออกร้านนี้เพื่อสำรวจดูพืชพันธุ์ สินค้าที่ค่อนข้างจะแปลกตา ก็ทำให้เรารู้สึกคึกคักขึ้นมาเหมือนกัน ใครที่เป็นสายสตรีทแฟชั่นคือต้องรัก และบนเส้นทางนี้แกจะสัมผัสได้ถึงนิสัยใจคอของชาวอินเดียที่สุดแสนจะน่ารักเป็นมิตรดูขัดกับบุคลิคภายนอกอยู่นิด ๆ เพราะหนวดที่เรียงสวยเป็นทรงแข็งนั้นอยู่เหนือริมฝีปากเปื้อนยิ้ม ที่สำคัญชาวอินเดียชอบถ่ายรูปมาก คือต่อให้รู้จักหรือไม่รู้จักถ้าเห็นเรายกกล้องถ่ายรูปขึ้นมาเมื่อใด เป็นอันฉีกยิ้มขอแจมร่วมเฟรมราวกับสนิทมานับ 10 ปี ซึ่งแรก ๆ แกอาจช็อคปนงงเล็กน้อย แต่ไปเรื่อย ๆ มันก็ออกจะขำ ๆ และทำให้เข้าใจความรู้สึกของเหล่าซุปตาร์ได้ไม่ยากเลยล่ะ

• Jama Masjid

เดินชิล ๆ ไม่เร่งไม่รีบจนมาจบกันที่ Jama Masjid มัสยิดขนาดใหญ่มากกกกกก เพราะมันคือมัสยิดที่ใหญ่ที่สุดในอินเดีย ที่ยาวถึง 40 เมตร และใหญ่ถึง 27 เมตร สามารถบรรจุคนได้ทั้งหมดกว่า 25,000 คนเลยทีเดียว มันมีอายุกว่า 363 ปี ถูกก่อสร้างด้วยสถาปัตยกรรมแบบอินโดอิสลามมิค ด้านในเป็นการผสมผสานระหว่างหินทรายสีแดงและสีขาว บนยอดหลังคาประกอบด้วยโดมสามโดม และประตูใหญ่สามบานเป็นทางเข้า เชื่อแล้วว่าคนอินเดียเค้ามีความเชื่อมหาศาลจริงๆ ขนาดที่ว่าต่อให้กวาดสายตาดูแบบผ่าน ๆ ก็ยังมองได้เกือบไม่ทั่วด้วยซ้ำ

• Bahubali Hills Udaipur

จากอาห์เมดาบัดยิงยาวเดินทางมุ่งหน้าราว 4 ชั่วโมงครึ่งสู่ อุดัยปูรย์ เรามาถึงช่วงใกล้เย็นเลยเลือกไปดูพระอาทิตย์ตกกันที่ Bahubali Hills Udaipur ก่อนเข้าที่พัก ที่นี่เป็นจุดชมวิวที่คนท้องถิ่นและฝรั่งนิยมมากันมาก ซึ่งก็ไม่น่าแปลกใจเลยจ้า จากบนนี้เราจะได้เห็นวิวทะเลสาบสลับกับเทือกเขา ราวกับเรากำลังถูกย่อส่วนให้เล็กลงที่ใจกลางธรรมชาติ สายลมที่พัดมาอย่างเยือกเย็นทำให้จิตใจกลับโปร่งเป็นอิสระ อันที่จริงแล้วที่นี่เป็นยอดเขาไร้นาม แต่ความงามก็ทำให้มันมีชื่อตามหนังที่โด่งดังเรื่องนึงของบอลลีวู้ดที่มีทัศนียภาพชวนฝันแบบนี้นั่นเอง

Day3 : City Palace of Udaipur — Udaipur Down Town — Jagat Niwas Cafe’ — Cafe’ Grasswood — Barbeque Nation

เผลอแปบเดียวก็เดินทางเข้าสู่วันที่ 3 ของทริป วันนี้เราจะเที่ยวกันจริงจังที่ อุดัยปูร์ หนึ่งในเมืองของรัฐราชาสถาน รัฐที่มีราชาอาศัยอยู่มากที่สุด ที่นี่สามารถเดินทางจากอาห์เมดาบัดไปได้ไม่ไกลมาก จะเหมารถพร้อมคนขับก็ราคาไม่แพง ประหยัดเวลา หรือจะนั่งบัสมาชิล ๆ กินบรรยากาศก็ได้ อุดัยปูร์ เมืองที่แปลว่าเมืองแห่งอาทิตย์อุทัยนี้ได้รับสมญานามว่านครสีขาว เพราะสิ่งก่อสร้างแทบทั้งเมืองพร้อมใจกันทาด้วยสีขาว มีทะเลสาบขนาดใหญ่ที่ถูกขุดจากแรงงานมนุษย์ เพื่อใช้ในการชลประทานโอบล้อมเมืองโดยรอบ มีอากาศเย็นสบายที่สุดในรัฐ ทำให้ได้ชื่อว่าเป็นที่ ๆ โรแมนติกที่สุด ราวกับว่ามันเป็นเวนิสแห่งอินเดีย เหล่าเศรษฐีชาวอินเดียจึงนิยมมาแต่งงาน และสร้างบ้านพักตากอากาศที่เมืองนี้

• City Palace of Udaipur

เราเริ่มต้นโลเคชั่นแรก ณ มหานครสีขาวกันที่ City Palace of Udaipur พระราชวังหลังงามที่ใหญ่ที่สุดในรัฐราชาสถานริมทะเลสาบสายสำคัญนามพิโชล่า มันถูกก่อสร้างมากว่า 460 ปีแล้ว ด้วยสถาปัตยกรรมแบบราชธานี และโมกุล ด้านนอกจะเน้นสีครีมแบบเรียบๆ แต่ด้านในกลับแซมด้วยสีฉูดฉาดให้ความรู้สึกว่าเป็นพระราชวังที่มีลูกเล่นสดใส เมื่อออกมายืนที่ระเบียงก็จะเห็นวิวเมือง และวิวทะเลสาบแบบพาโนลาม่า และแม้จะผ่านกาลเวลามาเนิ่นนานแต่ก็ไม่มีอะไรที่ทำให้ความสวยงามและแข็งแกร่งของพระราชวังหม่นหมองลงได้แม้แต่น้อย มันจึงแสดงให้เห็นถึงความรุ่งเรืองอันเจิดจ้าของอินเดียในยุคก่อนได้เป็นอย่างดี

ข้างนอกที่ว่าสวยจุกแล้ว ด้านในของพระราชวังที่ถูกสร้างจากหินแกรนิต และหินอ่อนที่ถูกนำมาแกะสลักร่วมกับกระจกแก้วหลากสี โดยมีนกยูงเป็นตัวแทน ก็ยิ่งรู้สึกถึงความร่ำรวยทั้งด้านของเงิน ทอง วัฒนธรรม สถาปัตยกรรมในช่วงรุ่งเรืองได้แบบถึงแก่น!!!! คือมันใหญ่โตมากกกกก ทางเดินต่าง ๆ คือสลับซับซ้อน ชวนหลง(ใหล) ซึ่งจะนำพาเราไปเจอความวิจิตรต่าง ๆ ไม่ว่าจะเป็น ห้องนอนเก่าสุดหรู ลานกว้างสุดเก๋ ระเบียงสุดวิจิตร มิวเซียมที่รวมของดีท่ามกลางของดี คือเดินเสร็จนี่ตาแตก กระจง กระจก พื้นเงาวั๊บ ล้วนแต่วิ้งแว๊บ ชวนมอง ชวนให้นึกย้อนเวลากลับไปถึงความอลังการ เป็นที่ ๆ สิ้นเปลืองชัตเตอร์สุดๆ

เอาจริง ๆ เราคิดว่าอินเดียน่าจะเป็นอีกประเทศที่ทำให้เหนื่อยกับการต้องหาท่ามาโพสต์ให้เข้ากับแบคกราวที่มีอยู่หลากหลาย ใครที่บ้าถ่ายรูปบอกเลยว่าอยู่ที่นี่ได้เป็นวันก็อาจจะถ่ายไม่ครบด้วยซ้ำ มุมเยอะ detail เยอะ ความสวยก็เยอะจัดหนัก ก็อย่างที่บอกไปแล้วว่าพระราชวังแห่งนี้ค่อนข้างมีสีสันสะดุดตา แค่แกเดินออกจากห้องนั้นเปลี่ยนมาเข้าห้องนี้ก็เหมือนได้เปลี่ยนสถานที่ไปในตัว ส่วนจุดที่ไม่ควรพลาดก็คือมุมหน้าต่างที่ทำมาจากกระจกสีบานใหญ่ ที่งานนี้แค่แอ๊บเป็นยืนเหม่อ แบคกราวก็ช่วยเล่าเรื่องราวได้มากมาย หรือจะยืนจิกหน้าฉีกยิ้มแอ๊บเป็นมหารานีก็ดูราศีจับอยู่ไม่น้อย คำแนะนำสั้น ๆ สำหรับที่นี่ คงมีแค่เพียงเตรียมเมมและแบตกล้องไว้ให้ดีก็แล้วกัน

• Udaipur Down Town

พักสายตาจากความอลังการออกมาเดินเล่นหาความน่ารักในย่าน Down Town กันสักหน่อย เมืองสีขาวแห่งนี้น่ารักมาก ทุกจุดคือละมุน นุ่มนิ่ม ดูยูโรเปี้ยนใส ๆ รวงร้านล้วนเป็นเฟรมชั้นเยี่ยมในการถ่ายรูป และสถานที่ละลายทรัพย์ชั้นยอด เพราะเราสามารถหาของฝากเก๋ ๆ สไตล์อินเดียที่ดูอินดี้ชิคเก๋ในราคาเบา ๆ ได้หลายชิ้นทีเดียว ระหว่างทางที่เราเดินเล่นแบบไม่ได้ใส่ใจมากนัก แต่ก็มีหลายสิ่งที่เตะตาจนเรารู้สึกว่าเป็นเสน่ห์ของย่านกลางเมืองแห่งนี้คือของพื้นเมืองที่หลากหลายมากกกกก มองไปทางนั้นก็อยากรู้ว่ามันคืออะไร มองมาอีกทางก็งงว่าจะใช้ยังไง ได้แต่ใช้จินตนาการเดาไปต่าง ๆ นานา อาหารก็ดูแปลกตา พางง ๆ ว่ามันทำมาจากอะไรบ้างนะ ใครกินง่ายหรือชอบลองมาลุยได้เลย สีสันที่สดเกินธรรมดาที่รวม ๆ กันสองข้างทาง และรอยยิ้มของชาวบ้านทำให้ถนนเส้นนี้เดินเพลิน และได้รูปสวยมากกว่าที่คิดอยู่น้า

ในย่านดาวทาวน์จะมีวัดที่ดังมาก ๆ สามารถแวะเข้าไปชมได้นั่นก็คือวัด Jagdish Temple วัดฮินดูที่ใหญ่ที่สุดของเมืองสีขาว ที่นี่อยู่ถัดจากพระราชวังไม่ไกลนัก มีอายุกว่า 368 ปี เป็นสถานที่สุดป๊อบของนักเดินทางและผู้ที่มานมัสการพระเจ้า และแน่นอนว่ามันใช้สีขาวเป็นหลักจึงดูมีกิมมิคต่างจากวัดอื่น ๆ อีกทั้งยังมีสถาปัตยกรรมแบบอินโดอารยัน ที่โดดเด่นด้วยโครงเสาโค้งมน เน้นการตกแต่งบนเพดาน และผนัง โดมตรงกลางวัดจากยอดได้ถึง 24 เมตร ประติมากรรมของที่นี่จะเน้นไปที่รูปของช้าง นักเต้น นักดนตรีที่แสดงถึงความสุขสดใส เหมาะแก่การมาเดินชมเพิ่มความอาร์ตแบบสำรวม ๆ

• Jagat Niwas Cafe’

หลังจากได้แต่จินตนาการความหรูหราไปตามสถานที่มาหลายแห่ง เที่ยงของวันนี้ก็ได้เวลาที่เราจะเฉิดฉายบนเวทีแห่งความหรูหรา รับบทมหารานีด้วยตัวเองบ้างเสียที เพราะเราจะไปทำตัวสวยเลิศหรูที่คาเฟ่และร้านอาหารสีขาวสุดอลังการริมทะเลสาบภายในโรงแรม Jagat Niwas แม่เจ้าถ้าไม่ตั้งสติให้ดีอาจเผลอคลานเข่าถอดรองเท้าตั้งแต่หน้าประตู ที่นี่สวย เก๋มาก มันเป็นอินเดียที่ดูสากล เป็นกลิ่นอายของสาวตาคมที่สวมหมวกแบบผู้ดีอังกฤษ มีวิถีชีวิตยามบ่ายด้วยการจิบชาร้อนและสโคนคู่กับแยมเสารส เราเลือกที่นั่งวิวทะเลสาบ พร้อมเบาะนุ่มนิ่ม กับหมอนอิงสีขาว มีหน้าต่างบานโค้งฉลุลาย เหมาะแก่การจิบเครื่องดื่มเย็น ๆ พร้อมของหวาน แอคติ้งนิ่งๆ ให้ดูไฮโซโก้เก๋ ใช้หางตามองเรือที่กำลังแล่นผ่านไปมาในทะเลสาบ

จิบน้ำส้มคั้นสดเย็น ๆ ได้สองสามอึก อาหารแบบฟิวชั่นก็ถูกจัดจานมาอย่างดีก็ถูกยกมาเสิร์ฟ เอาจริง ๆ สำหรับคนที่กินยากและห่วงว่าน้ำหนักจะลงจนต้องเปลี่ยนไซส์กางเกงขอให้สบายใจได้ เพราะเดี๋ยวนี้เมืองท่องเที่ยวในอินเดีย หาอาหารดี ๆ สะอาด ๆ หาทานได้ง่าย เพราะมีทั้งอาหารท้องถิ่น อาหารจีน อาหารฝรั่ง อาหารญี่ปุ่น ให้เลือกกันแบบไม่ต้องกลัวอดแน่นอน ขนาดเราที่ทานยากยังผ่านอินเดียมาได้ทุกครั้งไม่มีน้ำหนักลงแม้แต่ขีดเดียวเลยจ้า

• Cafe’ Grasswood

ก่อนเดินทางยาว ๆ กลับอาห์เมดาบัดเราก็ไปพักจิบกาแฟกันที่ร้าน Cafe’ Grasswood คาเฟ่เล็ก ๆ ที่ตกแต่งได้น่ารักน่าเอ็นดู ร้านนี้เราเจอมาจากไอจี เห็นฝรั่งมาเช็คอินกันเพียบ เราเลยขอกด Maps ตามมาสักหน่อย ร้านเล็ก ๆ แต่ดูอบอุ่นที่มีขนาดเพียงชั้นเดียวนี้เป็นร้านอาหารแบบออร์แกนิคที่เสิร์ฟทั้งเนื้อสัตว์ และอาหารแบบวีแกนสำหรับผู้ที่ทานมังสวิรัติโดยเฉพาะ โดยเมนูอาหารก็จะเปลี่ยนไปในแต่ละวัน แต่โดยภาพรวมที่เราได้ลองทานก็ถือว่ารสชาติใช้ได้แถมยังดูสะอาด กาแฟก็จัดอยู่ในมาตรฐานที่ดี เหมาะแก่การมาดื่มเพื่อนั่งพัก และถ่ายรูปเก๋ ๆ ลงไอจีตามฝรั่งสักใบสองใบ

จบกันไปแบบขอยกคะแนนให้ 10 10 10 สำหรับเมืองอุดัยปูร์ สมแล้วกับที่ได้รับการยกย่องให้เป็นเมืองที่โรแมนติกที่สุดในอินเดีย ซึ่งการเดินทางของเราในครั้งนี้ก็ต้องขอบอกว่าเป็นเพียงน้ำจิ้มเล็ก ๆ ของเมืองเท่านั้น ที่นี่ยังมีที่เที่ยวชวนว้าวให้ได้ชมกันอีกมาก โดยเฉพาะการล่องเรือในทะเลสาบ Pichola ที่เราคำนวนเวลาผิดจนอดไป จึงพลาดโอกาสงาม ๆ ที่จะได้ลอยละล่องอยู่บนผิวน้ำแล้วปล่อยกายปล่อยใจเพื่อชมธรรมชาติรอบกายที่แสนจะอลังการเวอร์วัง ก่อนจะทอดน่องขึ้นไปนั่งชิวบนพระราชวังกลางน้ำและแกล้งสถาปนาตัวเองให้เป็นมหารานี ดื่มด่ำกับบรรยากาศตรงหน้าให้เต็มที่ ดังนั้นใครจะมาจงวางแผนเวลาไว้ให้ดี ส่วนเราก็คงได้แค่หายใจลึก ๆ เข้าสามที แล้วคิดว่าต้องกลับมาซ้ำแน่นอน ก่อนจะมุ่งหน้าไปเมืองอาห์เมดาบัดด้วยรถยนต์ส่วนตัว

· Barbeque Nation

เวลาดีงามถึงอาห์เมดาบัดช่วงมื้อเย็นพอดิบพอดี ไม่รอช้าเรารีบมุ่งหน้าไปกันที่ร้านปิ้งย่างสไตล์อาห์เมดาบัดที่มีสาขาหลายแห่ง และมีแต่คนบอกว่าต้องไปลองนั่นก็คือ Barbeque Nation ร้านบาร์บีคิวแบบบุฟเฟต์ ที่สำหรับเราถือว่าอร่อยใช้ได้เลย แต่ที่ว้าวคือวิธีการเสิร์ฟ คือเค้าจะมีเตาแนวบาร์บีคิวพร้อมเนื้อเสียบไม้มาวางตรงหน้าเรา และน้ำซอสอีก 3 ถ้วย ส่วนเรามีหน้าที่ปาดซอสที่ชอบแล้วหมุน ๆ ไม้บาร์บีคิววนไป อาหารอื่น ๆในไลน์บุฟเฟต์ก็ถือว่าดีไม่แพ้กัน แถมมีหลายอย่างให้เลือก ไม่ว่าจะเป็นไก่อบ สปาเกตตี้ พิซซ่า สลัดผัก และปิดท้ายแบบครบ ๆ กับไอศครีมเย็น ๆ คือมันสนุกนะ การได้ลองกินอะไรที่แปลกใหม่ แถมอร่อย ในต่างถิ่น เพราะนอกจากอิ่มท้องแล้วก็ยังมีเรื่องมาเล่าเพิ่มอีก

Day4 : Sarkhej Roza — 079|Stories — Agashiye — The Project Café

• Sarkhej Roza

เช้าวันสุดท้ายแบบสายหน่อย ๆ เพราะเที่ยวหนักกันมาหลายวัน โดยเริ่มกันที่อีกหนึ่งแลนด์มาร์คอย่าง Sarkhej Roza สถานที่ที่ขึ้นชื่อว่ามีสถาปัตยกรรมที่โดดเด่นที่สุดของเมือง ความหรูหรามีสไตล์นี้มาจากสถาปัตยกรรมแบบอินโดซาราเซนิค ซึ่งก็คือสถาปัตยกรรมที่ผสมผสานระหว่างศิลปะแบบอิสลามตอนต้นกับศิลปะของเปอร์เซีย แต่แรกที่นี่คือหมู่บ้านของผู้ผลิตผ้าทอพื้นเมืองอันโดดเด่นก่อนจะกลายมาเป็นสุสานของสุลต่านชาห์ โดยสร้างมัสยิดเล็ก ๆ เพิ่มอีกหลัง ก่อนจะเสร็จสิ้นการสร้างเมื่อกลางศตวรรษที่ 15 ที่ได้มีการขุดสระเพิ่ม สร้างมัสยิดเพิ่ม และพระราชวังฤดูร้อนสำหรับราชวงศ์ รวมถึงหลุมพระศพของราชวงศ์อยู่ไม่ไกลกัน ความนวลของหินอ่อน และความละเอียดของหินแต่ละก้อนมันช่างสวยชวนกระชากหัวใจ ยิ่งเดินชมไปเรื่อย ๆ ยิ่งอินกับบรรยากาศได้ไม่ยาก

ด้านข้างจะเป็นสระน้ำโดยรอบ และสิ่งปลูกสร้างสุดใหญ่โตอีกหลายแห่งที่ยังหลงเหลืออยู่ ซึ่งที่นี่กำลังอยู่ในช่วงของการพัฒนา ปรับปรุงภูมิทัศน์ พัฒนาข้อมูล แต่เชื่อป่ะ แค่ระหว่างปรับปรุงคือมันยังใหญ่มากกก สวยมากกกก มีเสาทรงมน ๆ หลายต้นมาก ๆ ให้ฟีลเดินเล่นอยู่กลางอิตาลีผสมกับโคลอสเซียมเลยล่ะ หินแต่ละก้อนก็ใหญ่โตชวนว้าว ชวนเดินเล่นถ่ายรูป เพราะมุมมันดีแบบสุด ๆ งานนี้อย่าเรียกว่าถ่ายรูปเลย เรียกว่าถ่ายวีดีโอจะเหมาะกว่า ก็แหม ถ่ายเก่ง!!!!

• 079|Stories

เปลี่ยนโหมดมาเสพงานอาร์ตสมัยใหม่กันบ้าง เพราะที่อาห์เมดาบัดก็มีมุมตรงข้ามความเก่าแก่อยู่เหมือนกัน ที่ 079|Stories ศูนย์กลางแห่งใหม่ของศิลปะและวัฒนธรรมที่กว้างถึง 30,000 สแควร์ฟุต ที่ถูกตั้งอยู่บนแนวคิดที่ว่า Fine art จะต้องไม่ถูกจำกัดให้อยู่ในรูปแบบเดียว แต่รวมถึงโรงหนัง การเต้น และดนตรีด้วย มันจึงถูกออกแบบให้ปรับเปลี่ยนได้ง่ายและพร้อมที่จะเปิดรับทุกการดีไซน์ ที่นี่ถูกแบ่งเป็นสองส่วนคือตึกทรงสี่เหลี่ยมลูกบาศก์ และลานกว้าง ด้านนอกประกอบด้วยอัฒจันทร์ ร้านค้า และคาเฟ่ สำหรับใครที่ชื่นชอบในเรื่องของเส้นแสงและเงา เราว่าที่นี่จะยิ่งปลุกความอาร์ตในตัวของแก ยิ่งจังหวะที่แสงส่องผ่านตัวตึกเกิดเป็นเส้นแสงตามธรรมชาติที่นี่ยิ่งดูเก๋

โซนลานแสดงศิลปะก็จะมีนิทรรศการหมุนเวียนมาจัดแสดงตลอด อย่างตอนเราไปเหมือนจะเป็นงานสะท้อนสังคมที่ใช้สีขาวดำเป็นหลัก พอมีทั้งภาพที่เกิดจากไอเดียดี ๆ และแสงเงาที่เกิดจากธรรมชาติ ก็มีมุมให้เราเดินได้รูปเปลี่ยนฉากหลังแบบเพลิน ๆ เพิ่มขึ้นอีก ใครที่อยากสัมผัสอีกรสชาติของเมืองมรดกโลกโบราณ เราแนะนำที่นี่จ้า

• Agashiye

สุดท้ายแต่ไม่ท้ายสุด ก่อนปิดทริปเราเลือกเก็บความประทับใจผ่านรสสัมผัส ณ ร้านอาหาร Agashiye บนรูฟท็อปของโรงแรมเก่าแก่หรูหราประจำเมืองอย่าง “The House of MG Hotel” ที่การันตีความหรูหราเพราะเป็นเจ้าประจำที่ใช้รับแขกบ้านแขกเมือง และยังได้รับรางวัล “The Best Vegetarian Restaurant in 2016” จาก TripAdvisor ตบท้ายอีกรางวัลคือ “The Test Restaurants in India” ด้วย ขนาดมาเองแบบเค้าไม่ได้เชิญยังรู้สึกเชิดขึ้นมา 25% แม้ว่าที่นี่จะเสิร์ฟเฉพาะอาหารแบบ Vegetarian ที่มีเมนูไม่ซ้ำกันเลยในแต่ละวัน แต่มันก็กินง่าย แม้จะรู้สึกแปลก ๆ ในช่วงแรกก็ตาม ต่อให้แกเป็นสายเนื้อถ้าได้มาลองก็อาจต้องมีปันใจมาบ้างล่ะ

นี่เป็นอาหารมังสวิรัติสไตล์รัฐกุจราช ที่จะถูกเสิร์ฟทีละอย่าง  ๆลงบนจานของเราอย่างปราณีตราวกับเราเป็นแขกคนสำคัญ จานแรกเค้าจะเริ่มต้นที่ขนมปังอินเดีย ก่อนจะตามด้วยข้าวสไตล์อินเดียโดยมีมันฝรั่งอบน้ำผึ้ง และผักที่ปรุงแต่งต่างกันเป็นกับข้าว มีสลัดผักสดราดน้ำสลัดที่คล้ายกับน้ำอาจาดเพิ่มความสดชื่น และผลไม้ผสมเครื่องเทศเป็นเครื่องเคียง ที่สำคัญเค้ายังมีไลน์อาหารแบบบุฟเฟ่ในมื้อกลางวันและมื้อเย็นอีกด้วย ใครสะดวกแบบไหนก็จัดไปเลยจ่ะ รับรองว่าประทับใจในอาหารอินเดีย และการบริการของชาวอินเดียเพิ่มอีกหลายเท่า

•  The Project Café

ท้ายสุดและสุดท้ายแบบจริง ๆ เรามาปิดทริปส่งท้ายกันที่ The Project Café ร้านคาเฟ่ที่ไม่ได้เป็นเพียงแค่คาเฟ่ เพราะนี่คืองานอาร์ตชิ้นใหญ่ที่สร้างสรรค์โดย 150 ศิลปินจากทั่วโลกและหลากสไตล์จนกลายมาเป็นส่วนผสมที่ลงตัว ทั้งมุมของผลงานศิลปะที่จะมีการจัดแสดงผลงานไว้สร้างแรงบันดาลใจ การออกแบบที่นำเอาบ้านเก่ามาตกแต่งให้มีชีวิตชีวาขึ้นอีกครั้ง และอาหารที่ไม่ได้มีดีแค่หน้าตาแต่มีคุณค่าจากรสชาติที่ดีด้วย หรือจะเลือกซื้อของขวัญของฝากทำมือก็มีให้เลือกทั้งชิ้นเล็กชิ้นใหญ่ ดังนั้นตอนที่แกมาอาจจะมีอะไรที่เปลี่ยนแปลงไปเยอะก็ได้ เพราะศิลปะในแต่ละช่วงจะแตกต่างกันออกไป ซึ่งมันก็ชวนตื่นเต้นดีเหมือนกันนะเพราะเราไม่มีทางรู้ว่าอะไรกำลังรอเราอยู่

และอย่างที่บอกว่าไม่ใช่เค้าจะมีดีแค่หน้าตาเท่านั้นแต่อาหารก็ยังหลากหลายสไตล์ฟิวชั่น ทำให้อาหารอินเดียกินง่ายมากขึ้น รสชาติก็ถือว่าดีงามเลย ของคาวก็ผ่าน ของหวานก็ใช้ได้ เจ้าของก็เฟรนลี่ จะมาเล่นพักผ่อนเพิ่มความสดชื่นให้การเดินทางก็ได้ หรือจะมานั่งชิวฟิวคาเฟ่ฮอฟปิ้งก็ชิค เพราะเท่าที่มองรอบ ๆ ก็มีคนมานั่งคุยงานมานั่งชิวกันเยอะอยู่ เอาจริง ๆ ภายในอาห์เมดาบัดก็แอบซ่อนความชิคของคาเฟ่ไว้หลายร้านเหมือนกัน ถ้าจะมาเที่ยวก็ลองเดิน ๆ หา หรือถามคนแถวนั้นดู อาจจะเจอร้านถูกใจแนวใหม่ก็ได้นะ

อินเดียมุมใหม่ที่แทบไม่มีใครเหมือน การเดินทางข้ามกาลเวลาผ่านประวัติศาสตร์ที่แสนมีค่า ความรุ่งเรือง และภูมิปัญญาที่ควรค่าแก่การชื่นชม เมืองมรดกโลกไม่ได้ได้มาด้วยความบังเอิญฉันใด การเดินทางมาอินเดียก็ต้องอาศัยความตั้งใจฉันนั้น ทุกย่างก้าวในชีวิตเราสิ่งที่สำคัญมากกว่าความจริงคือทัศนคติที่มีต่อความจริงนั้น ได้โปรดลบอคติดูบ้าง แล้วแกจะได้เห็นเส้นทางใหม่ ๆ ที่แม้แต่ตัวแกเองยังต้องอิจฉาตัวเองก็เป็นได้ อินเดียมุมนี้คืออีกมุมที่เราบอกได้คำเดียวว่า ต้องมา!!!!