รีวิวอินเดีย :: Incredible India – Jaipur (Pink City) / Agra (City of Love) in 4 Days 🇮🇳 

ลบภาพจำฝังหัว ลองปล่อยตัวปล่อยใจจอย ๆ ไปกับ “Jaipur-Agra” มหาครสีชมพูและเมืองแห่งความรักกันสักหน่อย แล้วจะรู้ว่า India เป็นประเทศที่ควรค่าแก่การถูกรักมากกว่าที่คิด …. และ 4 วันต่อจากนี้คือมหากาพย์โร้ดทริปที่จะมาช่วยปรับทัศนคติลบ ๆ ที่หลายคนมีต่อประเทศนี้ให้กลายเป็นเมืองโปรดที่ทุกคนใฝ่ฝัน เราจะพาออกเดินทางไปพบเจอดินแดนแห่งสวรรค์ ใช้ชีวิตชิคเก๋เยี่ยงมหารานีในนครสีชมพูอันเนืองแน่นไปด้วยอารยธรรม ที่ถูกบอกเล่าเรื่องราวอย่างลึกซึ้งผ่านศิลปะสุดวิจิตรและสถาปัตยกรรมชวนน่าหลงไหล  ไปจนถึงมุมถ่ายรูปสุดปังกับ 1 ใน 7 สิ่งมหัศจรรย์ของโลกยุคใหม่ ที่สะท้อนถึงความอัจฉริยะในการออกแบบอย่างสมมาตรและซับซ้อน เอาล่ะ.. มาดูกันว่าเมืองที่ขึ้นชื่อว่าเป็น Photogenic หันกล้องไปทางไหนก็เจอแต่มุมสวยจึ้ง ชวนตะลึง มันเป็นยังไง

หลังจากน่านฟ้าทั่วโลกกลับมาคึกอีกครั้ง ทางเราก็เดินทางกับ AiraAsia ร่อนทั่วเอเชียรัว ๆ และหนึ่งในรูทที่ทั้งรักทั้งเกลียด แต่อยากกลับไปเที่ยวมากที่สุดก็คือ อินเดีย จ๊ะนายจ๋า โดยรอบนี้เราเลือกเส้นทางกรุงเทพสู่เมืองชัยปุระ ด้วยเที่ยวบินตรงออกจากดอนเมืองช่วงเวลาค่ำ ๆ ใช้เวลาแค่ 4 ชม.นิด ๆ ส่วนขากลับจะเป็นไฟล์ทดึกหน่อยถึงเช้าไปทำงานต่อได้ทันที ซึ่งข้อดีคือทำให้เรามีเวลาเที่ยวอีก 1 วันเต็ม ๆ แน่นอนไม่ว่าจะบินในหรือนอก สิ่งหนึ่งที่ไม่พลาดเลยสักครั้งคือการซื้อ Value Pack รับบริการเต็มขั้นในราคาสุดคุ้ม ไม่ว่าจะเป็นโหลดน้ำหนักกระเป๋า 20 กิโลกรัม จะขนชุด ขนพร็อปไปเปลี่ยนบ่อยขนาดไหนก็ได้ เลือกที่นั่งที่โปรดได้ดั่งใจ รวมถึงอาหารร้อนส่งกลิ่นหอมยั่วยวนพร้อมเสิร์ฟเราตั้งแต่ต้น แถมรสชาติยังอร่อยสบายพุง

Day 1 : Jaipur – Agra

หลังจากแลนด์ดิงถึงช่วงดึก ๆ พักผ่อนปรับเวลานอนให้เข้าที่ เพราะอินเดียเขาช้ากว่าเราประมาณ 1.30 ชม. เราก็เริ่มต้นด้วยการตื่นเช้า พร้อมสู้แดดสู้ลม ออกเดินทางโร้ดทริปไปยังเมือง Agra เมืองที่มีประวัติมายาวนานตั้งแต่ศตวรรษที่16 รุ่งเรืองที่สุดในช่วงที่ได้ขึ้นเป็นเมืองหลวงในสมัยโมกุล (อีกหนึ่งจักรวรรดิยิ่งใหญ่ที่สุดของโลก) หรือในช่วงสมัยจักรพรรดิอักบาร์มหาราช และชาห์จาฮานนั่นเอง ที่นี่จึงเต็มไปด้วยสิ่งปลูกสร้างสวยงามที่มีชื่อเสียงมากมาย ไม่ว่าจะเป็นทัชมาฮาล ป้อมอัครา สุสานของอักบาร์มหาราช ฯลฯ ซึ่งเราลิสต์เอาไว้เพื่อละเมียดชมเมืองกันแบบเต็ม ๆ 2 วัน

Agra Fort 

ปักหมุดจุดแรก เราขอพาชม Agra Fort ป้อมปราการด่านหน้า ที่คอยปกป้องเมืองในสมัยก่อน และเป็นด่านหน้าต้อนรับนักท่องเที่ยวในสมัยนี้ ตัวป้อมปราการอันยิ่งใหญ่นี้สร้างจากหินทรายแดง ทำให้ตัวอาคารเป็นสีน้ำตาลแดงตัดกับท้องฟ้าได้อย่างสวยงาม ภายในจะมีพระราชวังขนาดใหญ่ เริ่มสร้างตั้งแต่สมัยจักรพรรดิอักบาร์ยาวนานกว่า 95 ปีจึงแล้วเสร็จ เรียกว่านานกว่าทัชมาฮาลที่เรารู้จักกันเสียอีก และแน่นอนว่าที่นี่ก็ได้ขึ้นทะเบียนเป็นมรดกโลกจาก UNESCO เช่นเดียวกัน สำหรับคนที่ถือ passport ไทย (SAARC และ BIMSTEC) ราคาค่าเข้าจะอยู่ที่ 35 รูปี ส่วนต่างชาติอยู่ที่ 550 รูปี

ภายในป้อมประกอบด้วยส่วนต่าง ๆ ทั้งห้องหอ อาคาร มัสยิดจำนวนมาก และพระราชวังหลวงของเหล่ากษัตริย์แห่งราชวงศ์โมกุล จนกระทั่งย้ายเมืองหลวงไปยังเดลี บางอาคารถูกสร้างจากหินอ่อนเนื้อเย็นในขนาดที่โอ่โถง บ่งบอกถึงฐานะอันมั่งคั่งของราชวงศ์ เราสามารถเข้าชมท้องพระโรงส่วนพระองค์, มัสยิดไข่มุก, พระราชวังกัสมาฮาล และ Musamman Burj หอคอยสีขาวทรงแปดเหลี่ยม ที่กษัตริย์ชาห์ ชหาน ได้ใช้บั้นปลายชีวิตที่นี่ หลังจากโดนพระโอรสคุมขังไว้ เพราะพระองค์ได้นำเงินไปสร้างทัชมาฮาล เพื่ออุทิศแก่พระนางมุมตัช มาฮาลจนเกือบหมด ถือเป็นมุมที่มองเห็นทัชมาฮาลไกล ๆ ได้อย่างเด่นชัดและสวยงาม

Mehtab Bagh ( Taj – Yamuna View Point )

แค่ภายในป้อม เราก็ใช้เวลาในการเดินชมแทบทั้งวันแล้ว ช่วงเย็นเลยออกมาหามุมพระอาทิตย์ตกสวย ๆ ตามรอยเหล่าอินฟลูสายแลนด์สเคปกันสักหน่อย ตรง Taj – Yamuna View Point ซึ่งตั้งอยู่ในสวน Mehtab Bagh ไปนั่งบนเรือไม้ที่ลอยอยู่บนแม่น้ำ Yamuna เป็นมุมมหาชนที่เรามักเห็นตามนิตยสาร บทความออนไลน์ ฯลฯ พออากาศเริ่มเย็นลง มีลมพัดเอื่อยผ่านผิวกาย ได้ทอดมองพระอาทิตย์ที่กำลังตก พร้อมฟ้าเปลี่ยนสีเป็นโทนอุ่น กระทบเล่นแสงกับทัชมาฮาลสีขาวนวล สร้างเงาสะท้อนบนผิวน้ำ มันสวยจนเราลืมหายใจ สวยจนละสายตาไม่ได้เลยจริง ๆ

Day 2 : One day in Agra

Taj Mahal

หลังจากที่เราตื่นตะลึงกับความยิ่งใหญ่ของอัคราไปในวันแรกแล้ว วันนี้ก็มาเจอความตาแตกกว่าเดิมกับ 1 ใน 7 สิ่งมหัศจรรย์ของโลก และมรดกโลกอย่าง Taj Mahal มัสยิดสีขาวผ่องอันโอ่โถง เปล่งประกายท่ามกลางที่โล่งกว้าง ถือเป็นอนุสรณ์สถานแห่งรักอันมั่นคง ของกษัตรย์ชาห์ ชหาน ที่มีให้แก่พระนางมุมตัช มาฮาล ที่นี่ใช้เวลาสร้างนานถึง 22 ปี ด้วยแรงงานกว่า 20,000 คน ออกแบบอย่างพิถีพิถัน และเลือกใช้วัสดุที่ดีที่สุด ทั้งหินอ่อนและอัญมณีที่รวม ๆ แล้วมีน้ำหนักมากถึง 12,000 ตัน เรียกว่าเป็นสถาปัตยกรรมน้ำมือมนุษย์ที่ยิ่งใหญ่ และสวยงามจนผู้คนทั่วโลกหลั่งไหลมาชมแบบไม่ขาดสาย

ที่เราตื่นเต้นไม่ใช่เพราะความยิ่งใหญ่เท่านั้น เมื่อมองเข้าไปใกล้ ๆ เราจะเห็นถึงการออกแบบที่มีความสมมาตรและซับซ้อน ตามจุดต่าง ๆ มีการฉลุลายบนหินอ่อน ติดกระเบื้องแบบละเอียดยิบด้วยความบรรจง โดยสีของทัชมาฮาลจะเปลี่ยนไปตามแสงที่ตกกระทบ และสวยที่สุดในคืนจันทร์เต็มดวง ที่สะท้อนความขาวนวลออร่า โดยในหนึ่งเดือนจะเปิดให้ชมยามค่ำคืนเพียง 5 วันเท่านั้น ควรจะทำการจองมาก่อน นอกจากความงามแล้ว ยังมีเรื่องเล่ามากมาย ทั้งเรื่องราวความคลั่งรักของกษัตริย์ที่สร้างอนุสรณ์สีขาวนี้แก่พระมเหสี และตั้งใจที่จะสร้างอนุสรณ์สีดำเป็นของตนเองให้อยู่ตรงข้ามกัน และเรื่องเล่าที่มีรับสั่งให้สังหาร ตัดแขน ขา หรือควักลูกตาเหล่าสถาปนิก-นักออกแบบ เพราะกลัวจะไปสร้างสถาปัตยกรรมที่สวยกว่า เที่ยวที่เดียวได้หลายอรรถรสมาก

Tomb of Itimad ud Daulah

อีกสุสานที่เป็นเหมือนแรงบันดาลใจในการสร้างทัชมาฮาลเลยก็คือ Tomb of Itimad ud Daulah สุสานอิตมัดอุดดุลลาห์ หรือที่เรียกติดปากกันว่า Baby Taj เป็นสุสานหินอ่อนแห่งแรกของเมืองอัครา ตั้งอยู่ริมฝั่งแม่น้ำ Yamuna สร้างขึ้นช่วงทศวรรษที่ 1620 เพื่ออุทิศแก่มีร์ซา กียาช เบค เสนาบดีการคลังและพ่อของนูร์ จาฮาน พระมเหสีของกษัตริย์จาฮานคีร์ แห่งราชวงศ์โมกุลนั่นเอง พระนางเป็นพระมเหสีองค์ที่ 20 และองค์สุดท้ายของพระองค์ แต่มีการศึกษาและความสามารถเกินผู้หญิงในยุคนั้น จึงได้รับการโอนถ่ายอำนาจ ใช้อำนาจในการปกครองได้ประหนึ่งจักรพรรดินี หลังจากที่ได้ขึ้นเป็นพระมเหสีจึงได้สร้างอนุสณ์สถานแก่พ่อของตนนั่นเอง โดยค่าเข้าคนไทย (SAARC และ BIMSTEC) อยู่ที่ 20 รูปี ส่วนต่างชาติอยู่ที่ 250 รูปี มันปังตรงนี้

สถาปัตยกรรมของที่นี่เป็นแบบอิสลามิก นอกจากจะมีสีขาวอันโดดเด่นแล้ว รอบ ๆ กำแพงยังมีการแกะสลักหินอย่างประณีตด้วยเทคนิค Pietra dura เป็นการฝังพลอยในเนื้อหิน และจัดวางลายกระเบื้องโมเสกอย่างสวยงาม เป็นลวดลายของดอกไม้ และดวงดาว แม้ที่นี่จะได้สมญานามว่า Baby Taj แต่ก็สร้างก่อนทัชมาฮาลนานถึง 20 ปีเลยล่ะ

Chand Baori Stepwell

ระหว่างทางกลับไปที่ชัยปุระ เราขอแนะนำให้แวะชมความยิ่งใหญ่ ชวนตะลึงของบ่อน้ำขนาดยักษ์ Chand Baori Stepwell บนพื้นที่ของรัฐราชสถาน ที่นี่สร้างขึ้นในช่วงศตวรรษที่ 10 มีอายุกว่าพันปี แต่กลับออกแบบได้ล้ำสมัย จนเป็นอินสไปเรชันแก่ที่พัก ร้านอาหารแนวอินเดียมากมายในปัจจุบัน เมื่อก่อนพื้นที่นี้มีความเจริญมั่งคั่งมาก เพราะเป็นเส้นทางการค้าผ่านไปยังตะวันออกกลาง แต่ก็มีความแห้งแล้งมากเช่นกัน มหาราชาจึงสร้างบ่อน้ำที่มีความลึก 33 เมตร เทียบเท่าตึก 13 ชั้นนี้ขึ้น เพื่อกักเก็บน้ำไว้ใช้ในหน้าแล้ง มีการก่ออิฐเป็นขั้นบันไดรอบ ๆ ราว 3,500 ขั้น เพื่อให้ประชาชนสามารถลงไปตักน้ำทีละหลาย ๆ คน และสามารถตักน้ำจนถึงหยดสุดท้ายได้นั่นเอง ถือเป็นบ่อน้ำที่ลึกและใหญ่ที่สุดในอินเดียอีกด้วย

Day 3 : Jaipur

และแล้วเราก็มาถึงมหานครสีชมพูอันยิ่งใหญ่แห่งรัฐราชสถานนามว่า ‘จัยปูร์’ หรือที่เรียกกันว่าชัยปุระ เมืองที่เปรียบเสมือนอัญมณีเม็ดงามของอินเดีย มีประวัติยาวนานกว่า 300 ปี และเริ่มมีบทบาทโดดเด่นกว่าเมืองอื่น ๆ เมื่อราว ๆ 140 กว่าปีก่อน ในยุคที่เป็นเมืองขึ้นของประเทศอังกฤษ มหาราชาไสว ราม ซิงห์ ได้รับสั่งให้ผู้คนทาบ้านเรือนให้เป็นสีชมพู เพื่อต้อนรับการเสด็จของเจ้าชายเอ็ดเวิร์ดแห่งเวลส์ และราชินีวิคตอเรียแห่งอังกฤษผู้โปรดปรานสีชมพูเป็นที่สุด จนได้รับสมญานามว่า Pink City และยังมีผังเมืองที่เป็นระเบียบตามหลัก Vastu Shasta ทุกกระเบียดนิ้ว แค่ก้าวขาลงจากรถ มาเจอสีสันความงามนี้ เราก็หลงเสน่ห์เข้าอย่างจังเลย

City Palace

จุดแรกที่เรามุ่งตรงไปสำรวจในเช้าวันที่ 3 ของทริป ณ เมือง ชัยปุระ ก็คือพระราชวังหลวง City Palace ของมหาราชาไสว จัย ซิงห์ที่ 2 สร้างขึ้นราว ๆ ศตวรรษที่ 18 ซึ่งเป็นช่วงที่โมกุลเริ่มมีอิทธิพลมากขึ้น การออกแบบจึงผสมผสานระหว่างราชปุตและโมกุล แต่ก็ยังคงสร้างออกมาให้เป็นสีชมพู ล้อกับเอกลักษณ์ของเมือง ใช้เป็นที่พักผ่อนของราชวงศ์ ปัจจุบันกลายเป็นพิพิธภัณฑ์ Sawai Ma Singh เราสามารถเยี่ยมชมห้องต่าง ๆ ของราชวัง มีการจัดแสดงเครื่องแต่งกายของมหาราชาและมหาราชินี เห็นความวิจิตรสวยงามในการตัดเย็บ จนไปถึงอาวุธทรงแปลกตาใช้ทำศึกสงครามในสมัยนั้น และยังมีผลงานศิลปะ ของสะสมโบราณหาชมยาก ทั้งหมดบอกเล่าเรื่องราวประวัติศาสตร์ได้อย่างดี ในลักษณะที่สมบูรณ์ชวนพิศมัย

ขนาดเราที่ชอบเที่ยวแบบฉาบฉวย ไม่ค่อยมองหรือสังเกตอะไรเท่าไหร่ ยังต้องสะดุดตากับการตกแต่งของเขาเลย ไฮไลต์ที่ห้ามพลาดคือบริเวณลานนกยูง ที่มีซุ้มประตูอยู่ 4 บาน แต่ละบานจะสร้างลวดลายแทน 4 ฤดู ได้แก่ ฤดูฝน-ลายนกยูงลำแพนหางอย่างเป็นธรรมชาติ ประหนึ่งมีชีวิต เป็นประตูที่สวยที่สุด, ฤดูหนาว-ลายดอกไม้, ฤดูร้อน-ลายดอกบัว และฤดูใบไม้ผลิ-ลายเขียวตอง ลายเหล่านี้ถูกสร้างด้วยการจัดเรียงกระเบื้องหลากสี ที่ตัดเป็นชิ้นเล็ก ๆ มาวางทีละชิ้น ถือเป็นงานช่างฝีมือระดับเทพเลยทีเดียว

Jantar Mantar 

ถ่ายรูปจนกล้องเริ่มร้อน มาพักนิ้วพักชัตเตอร์กันก่อนที่ Jantar Mantar หอดูดาวตั้งอยู่ฝั่งตรงข้ามพระราชวัง สร้างขึ้นเมื่อ 296 ปีก่อน โดยมหาราชาไสว จัย ซิงห์ที่ 2 ไว้ใช้สังเกตการเคลื่อนไหวของพระอาทิตย์ พระจันทร์ ดวงดาว เพื่อหาฤกษ์ในการออกรบ และยังสร้างนาฬิากาแดดที่ใหญ่ที่สุดในโลก ความสูงถึง 28 เมตร สามารถวัดเวลาของชัยปุระได้อย่างแม่นยำ (ซึ่งเวลาจะคลาดเคลื่อนกับเวลากลางของอินเดียเล็กน้อย) จึงถือเป็นสถานที่บ่งบอกถึงความอัจฉริยะทางดาราศาสตร์และจักรวาลวิทยาของคนสมัยปลายยุคโมกุล จนได้ขึ้นทะเบียนเป็นมรดกโลกอีกด้วย

The Tattoo Cafe & Lounge

ก่อนจะไปกันต่อ เราขอพักเบรกกินมื้อเที่ยงกันสักนิดที่ร้าน The Tattoo Cafe & Lounge เป็นคาเฟ่ที่เราชอบที่สุดในทริป เพราะนอกจากจะอิ่มท้องแล้ว เรายังได้โฟโต้สปอต บนระเบียงชั้นสองที่มีแบ็กกราวนด์เป็นพระราชวังสายลม (Haha Mahal) ให้เราไปยืนโพสท่าร่วมเฟรมอยู่ด้านหน้า มุมที่ตะโกนความเป็น Pink City ได้อย่างดี โดยอาหารของทางร้านจะเป็น Home cooked ทั้ง Pasta, Pizza พร้อมเครื่องดื่มนานาชนิด มี milkshake, Smoothie bowls สำหรับคนรักสุขภาพด้วย และยังเป็นร้านไอคอนของเมืองที่มีเหล่าดารา เซเลปอินเดียมาเยี่ยมชมอยู่เป็นประจำ ทางเราก็ขอโคฟเป็นคนดังถ่ายรูปเท่ ๆ สักหนึ่งแมตช์แล้วกัน

Haha Mahal 

เต็มอิ่มกับอาหารแล้ว เราก็ข้ามฝั่งมาสู่แลนด์มาร์กอันโด่งดัง Haha Mahal พระราชวังสายลมสร้างมานานกว่า 224 ปี โดยมหาราชาไสว ประธาป ซิงห์ เป็นสถาปัตยกรรมแบบราชปุต ลักษณะเป็นอาคารแนวยาวหน้าบันสูง 5 ชั้น สีชมพูอมส้มสร้างจากหินทรายสีชมพูและแดง ถอดแบบมาจากรูปทรงมงกุฏพระนารายณ์ จึงมียอดแหลมหลายยอด ตัวอาคารมีหน้าต่างเล็ก ๆ และลายฉลุช่องลมกว่า 953 บาน ช่องเหล่านี้ทำให้อากาศภายในถ่ายเทสะดวก มีลมพัดผ่านราชวังตลอดเวลา จึงเป็นที่มาของชื่อพระราชวังสายลมนั่นเอง 

Patrika Gate

จุดที่จะทำให้เราได้ภาพสวยหรูดูแพงดุจมหารานีได้ ก็คือ Patrika Gate หรือประตูเมืองลำดับที่ 9 แห่งชัยปุระ กับสีสันแสนหยดย้อยแต่งแต้มทุกอณูด้วยงานปั้นงานฉลุ เป็นลายดอกไม้เลื้อยสีชมพูหวานฉ่ำ เมื่อมองทะลุประตูที่ตั้งซ้อนกันเกิดเป็นภาพมิตินูนต่ำน่าพิศวง ประตูแต่ละซุ้มมีความกว้าง 9 ฟุต ตัวประตูกว้าง 81 ฟุต ยาว 27 ฟุต และสูง 108 ฟุต ตัวเลขทั้งหมดล้วนมีเลข 9 เป็นฐาน ซึ่งจากหลักการออกแบบสไตล์ Vastu Shasta ถือว่าเลข 9 เป็นเลขมงคลของฮินดู ถูกหลักฮวงจุ้ยบ้านเขาแบบเต็มสิบ ความเป็นมาว่าปังแล้ว พอได้ถ่ายรูปร่วมเฟรม มันปังยิ่งกว่า สีสันเอย แสงเงาเอย มันลงตัวจนขนลุกไปหมดเลย

Rambagh Palace

เที่ยวจนเพลิน รู้ตัวอีกทีก็ถึงเวลาดื่มชาแล้ว ทางเราปรับอินเนอร์เป็นผู้ดีชาวอินเดียแล้วมาที่ Rambagh Palace โรงแรมระดับหกดาว ที่เคยเป็นพระราชวังเก่าแก่สร้างมานานเกือบ 190 ปี เคยเป็นที่ประทับของมหาราชาไสว จัย ซิงห์ที่ 2 ใครได้มานอนก็จะได้สัมผัสความเป็นอยู่ระดับ Royal ส่วนใครที่อยากมาชมความงามของสถาปัตยกรรมรอบ ๆ สามารถมาใช้บริการ Verandah Cafe ร้านอาหารอันหรูหราภายในโรงแรมได้เช่นกัน มีโซนให้นั่งทั้งอินดอร์และเอาท์ดอร์ เราเลือกมาช่วงเวลา Afternoon Tea เพราะได้ยินมาว่า เขาจะใส่ความเป็น Traditional ลงไปด้วย สเปเชียลขนาดมีชาให้เลือกมากกว่าสิบชนิด ขนมอบแซนด์วิชหลากสไตล์ ขนมหวานที่อัดแน่นมาในจานทั้งสามชั้น อิ่มอร่อยจนลืมมื้อเย็นไปเลย

Albert Hall Museum 

ขอปิดจบวันด้วยการไปเดินรับลมเย็น ๆ โพสท่าเท่ ๆ กับฝูงนกพิราบหน้า Albert Hall Museum พิพิธภัณฑ์กลางเมือง อยู่ในอาคารแสนแปลกตาสไตล์ Indo-Saracenic ผสมผสานสถาปัตยกรรมอินเดียยุคโมกุล เข้ากับงานฟื้นฟูโกธิค สอดแทรกความเป็นอังกฤษและอินเดียอย่างแยบยล ทำให้ที่นี่กลายเป็นอีกแลนด์มาร์กเด็ดประจำเมือง หากใครอยากรู้เรื่องอดีตของชัยปุระ ศึกษาอารยธรรม ศิลปวัฒนธรรมอินเดียยุคคลาสสิก ชมของสะสม สมบัติล้ำค่าของเมือง อาทิ พรม เครื่องเพชร ภาพวาด เครื่องใช้แสนวิจิตร จนไปถึงมัมมี่ เราแนะนำให้ตีตั๋วเข้าไปได้เลย แอบบอกนิดนึงว่าภายในเขาห้ามใช้กล้องถ่ายรูป สามารถถ่ายรูปด้วยมือถือเท่านั้น 

Day 4 : Jaipur

Gulab Ji Chai Wale

เที่ยวมาจนถึงวันสุดท้าย ขอสารภาพตามตรงว่าอยากลองทานมื้อเช้าแบบสตรีทฟู้ดฟีลโลคอลมาก ๆ เลยขอเริ่มต้นที่ร้าน Gulab Ji Chai Wale ร้านริมทางสไตล์สภากาแฟใกล้ชิดคนพื้นเมืองสักหน่อย ร้านนี้เขาจะเสิร์ฟชา กาแฟ และเมนูอาหารมากมาย ซึ่งซิกเนเจอร์จะเป็นชาต้มแบบอินเดี๊ยอินเดีย Gulabji Special Chai ชากลิ่นหอมละมุน ผสมขิงเพิ่มความร้อนช่วยสร้างความอบอุ่นให้กับร่ายกาย ส่วนอาหารแนะนำให้สั่งขนมปังทาเนยไส้ซาโมซ่า และแซนด์วิชที่เบิร์นมาแบบกรอบรอกนุ่มใน รสชาติเรียกว่ากลมกล่อมอร่อยมากสำหรับเรา ไม่แปลกใจที่เห็นคนที่นี่เข้าออกไม่ขาดสาย ถือเป็น Taste of India ที่ทำให้ทริปนี้คอมพลีทขึ้นจริง ๆ

Amber Fort

หลังจากอิ่มท้องแล้ว เราก็ลุยกันต่อที่ Amber Fort หนึ่งในป้อมปราการที่ขนานนามกันว่าสวยที่สุดในอินเดีย มีอายุ 430 กว่าปีมาแล้ว มองจากด้านนอกดูเป็นป้อมปราการที่ยิ่งใหญ่และน่าเกรงขามมาก เพราะตั้งอยู่บนภูเขา และมีกำแพงปิดทึบยาวกว่า 13 เมตร กั้นลาดลงมาตามไหล่เขา จนถึงทะลสาบ Maota ที่อยู่เบื้องล่าง ตัวอาคารสร้างขึ้นจากหินทรายแดง ออกแบบผสมระหว่างศิลปะราชปุตและฮินดู ค่าเข้าที่นี่จะอยู่ที่ 500 รูปี แต่ถ้าอยากเข้าชมแบบคนเก๋ ก็สามารถจ่ายเพิ่ม 1,100 รูปี/2 คน เพื่อขึ้นหลังช้างที่แต่งองค์ทรงเครื่องสวยงามไปชมป้อมปราการก็ได้เช่นกัน

เข้ามาภายใน ดูเผิน ๆ คงรู้สึกไม่ต่างจากที่อื่นเท่าไหร่นัก แต่ความจริงแล้วที่นี่มีขนาดใหญ่โตกว่า มีดีเทลเรื่องลวดลาย การใช้สีที่เป็นเอกลักษณ์ เพราะนอกจากเป็นที่ประทับของครอบครัวกษัติย์แล้ว ยังใช้ต้อนรับแขกบ้านแขกเมือง เป็นที่ว่าการ ที่ทำกิจกรรมสำคัญ ๆ ต่าง ๆ ด้วย ทำให้ทุกมุมในนี้สามารถเป็นมุมถ่ายรูปเท่ ๆ ได้หมด ยิ่งตรงสวน Agalitai ที่แปลว่าสวนสวรรค์นี้ก็เช่นกัน มันมีความเขียวสบายตา คอนทราสต์กับภูเขาน้ำตาลด้านนอก และทุก ๆ 4-5 ปี ป้อมเหล่านี้จะได้รับการทาสีใหม่ด้วยเทคนิคเฟรสโก โดยการนำสีมาผสมกับปูนแบบพิเศษเพื่อให้สีสดติดทนนาน จึงทำให้ที่นี่ดูใหม่และสะอาดสะอ้านอยู่เสมอ

Gaitor Ki Chhatriyan 

พิกัดต่อมา เรามาชมอนุสรณ์สถานมหาราชาแห่งชัยปุระ Gaitor Ki Chhatriyan ที่เผาพระศพของมหาราชาที่เคยปกครองเมือง เป็นศาลาทรงสูงโปร่ง มียอดทรงโดมกระจายไล่ระดับ ลักษณะคล้ายร่ม (Chhatris) จึงมีชื่อว่า Gaitor Ki Chhatriyan ส่วนใหญ่สร้างจากหินอ่อนและหินทรายไร้สีสัน แต่แจ่มชัดไปด้วยลายฉลุ ตั้งแต่พื้นยันเพดาน ตามเสามีการสร้างเลเยอร์เล่นแสงเงา ถ้ามองลึกเข้าไปในรูปสลักจะเห็นทั้งลายดอกไม้ ใบไม้อันเป็นเอกลักษณ์ของอินเดีย และมีการสลักเล่าเรื่องราว ผ่านตัวละครที่ดูพริ้วไหวเหมือนมีชีวิต ลงดีเทลลึกไปจนถึงลายผ้าสาหรี่เลยทีเดียว เรียกว่าทุก ๆ ส่วนของอนุสรณ์นี้ ทำเราขนลุกไปกับความว้าว ความตาแตกของช่างฝีมือ สำหรับค่าเข้าที่นี่จะอยู่ที่ 30 รูปีเท่านั้น

Nahargarh Fort

ป้อมปราการที่ตั้งอยู่เหนือ Gaitor Ki Chhatriyan ที่ ๆ เราตั้งใจมาล่ำลาแสงสุดท้ายของทริป Nahargarh Fort ถูกสร้างขึ้นในสมัยมหาราชาไสว จัย ซิงค์ที่ 2 ตั้งแต่ 289 ปีก่อน เดิมชื่อ Sudarshangarh Fort ต่อมาได้เปลี่ยนชื่อเป็น Nahargarh แปลว่าที่พำนักของราชสิงห์ ออกแบบด้วยสถาปัตยกรรมสไตล์ Indo-European ใช้เพื่อป้องกันการรุกรานจากศัตรู ผ่านมาร้อยกว่าปี ที่นี่ก็กลายเป็นซากปรักหักพัง มหาราชาไสว มาดโฮ ซิงค์ (พระโอรส) จึงให้ทีมวิศวกรเปลี่ยนที่นี่เป็นสถานที่เริงรมณ์ สร้างเสมือนพระราชวังอีกแห่ง มีลวดลายปูนปั้น ภาพเฟรสโกอันวิจิตรที่มักจะเห็นบ่อยในฮาเร็มของกษัตริย์ แต่ละห้องถูกตกแต่งอย่างหรูหรา และบางส่วนของป้อมก็ยังมีปืนใหญ่วางอยู่ มีร่องรอยกระสุนของฝั่งตรงข้าม เป็นหลักฐานของการสู้รบที่เห็นได้จนถึงปัจจุบัน 

ถ้าเปรียบความยิ่งใหญ่ของป้อม เราว่าเป็นน้อง ๆ กำแพงเมืองจีนได้เลยนะ มันมีความหนาและแข็งแรงจนสามารถขึ้นไปนั่งอยู่บนขอบกำแพงได้สบาย ๆ เบื้องล่างเป็นวิวเมืองชัยปุระที่ขยายกว้างจนสุดลูกหูลูกตา เมื่อพระอาทิตย์เริ่มคล้อย ท้องฟ้าก็ปรับเปลี่ยนเป็นสีชมพูพาสเทล ฉาบอยู่เหนือนครสีชมพู เป็นวันที่เราอิ่มเอมไปกับอารยธรรมอันยิ่งใหญ่ และอำลากันไปพร้อมวิวปัง ๆ สมมงนักท่องเที่ยวตัวยงอย่างเราจริง ๆ 

สำหรับคนที่บอกว่ามาอินเดีย ไม่รู้สึกรักก็รู้สึกเกลียด เราเชื่อว่าใครได้มาสองเมืองนี้ ทุกคนจะต้องกลับไปพร้อมกับความรักที่มีอยู่เต็มอก หลังจากได้เจอะเจอความสวยอลังการที่สร้างโดยน้ำมือมนุษย์ เป็นทั้งมรดกและสิ่งมหัศจรรย์ของโลกที่ควรค่าแก่การถูกเก็บรักษา หลักฐานความเป็นอยู่อันมั่งคั่งเกินจินตนาการของเหล่ามหาราชา เรื่องราวสนุก ๆ ที่เล่าขานต่อ ๆ กันมา รวมกันแล้วมันคือกลมกล่อม เป็นอีกรูทที่จะให้เรากลับมาใหม่ก็ยังได้